วีแกนกินถั่วเหลืองทำลายโลก จริงหรือไม่?
เราชอบพูดคุยกับแฟนเพจเราบนโซเชียลมีเดีย เราอยากรู้จักทุกคน อยากรู้ความคิดเห็นและประสบการณ์ของทุกๆ คน ด้วยวิธีการนี้เองทำให้เราได้ช่วยผู้คนมากมายให้เข้าใจไลฟ์สไตล์แบบวีแกน และเข้าใจว่าผลิตภัณฑ์จากสัตว์มีที่มาอย่างไร จากการอ่านและตอบคอมเม้นท์บนโซเชียลมีเดียของเรา มีคำถามหนึ่งที่เราเห็นบ่อยๆ และเราอยากจะไขข้อข้องใจให้กับแฟนเพจทุกคน
“วีแกนไม่กินเนื้อเพราะเหตุผลทางสิ่งแวดล้อม แต่ก็อย่ากินเต้าหู้และผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลืองด้วยนะ เพราะการปลูกถั่วเหลืองก็ทำลายสิ่งแวดล้อมเหมือนกัน”
นี่เป็นความเชื่อที่ผิด และเราต้องทำความเข้าใจเสียใหม่เพราะว่ามันไม่จริงเลย!
เราคงต้องเข้าใจให้ตรงกันก่อนว่า คนหนึ่งคนคงกินอาหารไม่มากเท่ากับวัวหนึ่งชีวิต จริงไหมคะ? ดังนั้น การทำให้คนหนึ่งคนอิ่ม ใช้ธัญพืชน้อยกว่าการทำให้วัวหนึ่งชีวิตอิ่มมาก ความจริงแล้ว เราต้องใช้ธัญพืชถึง 7 กิโลกรัม เพื่อผลิตเนื้อวัวเพียง 1 กิโลกรัม และใช้ธัญพืช 4 กิโลกกรัม เพื่อผลิตเนื้อหมู 1 กิโลกรัม หากมองในด้านพลังงานที่ได้รับจากอาหาร ธัญพืชทุกๆ 100 กิโลแคลอรี่ที่เรานำไปเป็นอาหารสัตว์ ผลิตไข่ไก่ได้เพียง 22 กิโลแคลอรี่ ผลิตเนื้อไก่ได้เพียง 12 กิโลแคลอรี่ และผลิตเนื้อวัวได้เพียง 3 กิโลแคลอรี่เท่านั้น ไม่คิดเหรอคะว่าเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างสูญเปล่ามาก!
ท้ายที่สุดแล้ว คนกินเนื้อสัตว์ก็ยังผู้บริโภคที่ใช้ทรัพยากรทางอ้อมมากกว่า และบริโภคถั่วเหลืองโดยเฉลี่ยมากกว่าวีแกนที่กินเต้าหู้เสียอีก โดยประมาณแล้ว ชาวยุโรปบริโภคถั่วเหลืองปีละ 61 กิโลกรัมต่อคนโดยเฉลี่ย และโดยมากแล้วมักจะบริโภคทางอ้อมผ่านทางผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ได้แก่ ไก่ หมู แซลมอน ชีส นม และไข่ไก่
แนวคิดคล้ายๆ กันนี้ก็ปรับใช้ได้ในปริมาณน้ำที่ใช้ ในสหรัฐอเมริกา การผลิตเนื้อวัวใช้น้ำมากกว่า 10,000 ลิตรต่อการผลิตเนื้อวัวเพียง 1 กิโลกรัม การเลี้ยงไก่เนื้อใช้น้ำกว่า 3,500 ลิตรเพื่อผลิตเนื้อไก่เพียง 1 กิโลกรัม หากเปรียบเทียบกับผลิตธัญพืช การผลิตถั่วเหลืองใช้น้ำ 2,000 ลิตรต่อการผลิต 1 กิโลกรัม ข้าว 1 กิโลกรัม ใช้น้ำ 1,912 ลิตร ข้าวสาลี 1 กิโลกรัม ใช้น้ำ 900 ลิตร และมันฝรั่ง 1 กิโลกรัม ใช้น้ำ 500 ลิตร
ตัวเลขเหล่านี้นำมาสู่ข้อสรุปที่ว่า พลังงานที่ได้จากพืชผลที่เก็บเกี่ยวได้ทั่วโลก มีเพียง 55% เท่านั้นที่กลายเป็นไปอาหารของคนโดยตรง ข้อมูลจาก WWF ระบุว่า 79% ของถั่วเหลืองที่ผลิตได้ทั่วโลกใช้เป็นอาหารวัว และถ้าหากคุณรู้สึกตื่นตระหนกกับข่าวไฟไหมผืนป่าอะเมซอนล่ะก็ คุณอาจจะควรทราบไว้ว่าถั่วเหลืองกว่า 80% ที่ผลิตในประเทศบราซิล (ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการตัดไม้ทำลายป่ารองจากการเลี้ยงวัว) กลายไปเป็นอาหารของสัตว์ในการปศุสัตว์ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยด้วย
ดังนั้นหากจะให้เราตอบคำถามของคุณ เราก็คงต้องบอกว่า ไม่ใช่ค่ะ วีแกนไม่ได้เป็นผู้ที่แบกรับความผิดทั้งหมดแต่เพียงผู้เดียวในการปลูกถั่วเหลือง และการตัดไม้ทำลายป่า และปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอื่นๆ การบริโภคเนื้อสัตว์ต่างหากที่เป็นตัวการหลัก
ลองจินตนาการดูสิคะว่ามันจะสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ขนาดไหนหากเราเอาธัญพืชและน้ำเหล่านี้ไปให้คนโดยตรง แทนที่จะเอาไปเป็นอาหารให้สัตว์ที่จะกลายมาเป็นเนื้ออีกทอด ในขณะที่โลกนี้ยังมีผู้คนอีกมายที่ต้องอดอยากหิวโหย การปศุสัตว์เป็นตัวการทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำด้านการเข้าถึงอาหาร และเป็นตัวการหลักที่ทำให้หนึ่งในเก้าของประชากรโลกขาดสารอาหาร และอีกอย่างก็คือ เราบริโภคเกินกว่าที่จำเป็นไปมาก แล้วเราก็กินยังเกินพอดี ตามหลักการโภชนาการและการบริโภคเพื่อให้สุขภาพดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารที่มาจากสัตว์ และอาหารแปรรูป
หากไม่มีตัวกลางอย่างการปศุสัตว์ เราก็จะมีอาหารมากพอที่จะเลี้ยงคนทั้งโลกโดยใช้น้ำและที่ดินน้อยกว่า มีงานวิจัยฉบับหนึ่งที่ระบุว่า ธัญพืชที่ใช้เลี้ยงวัวในสหรัฐอเมริกาในขณะนี้ มีปริมาณมากพอที่จะนำไปเป็นอาหารให้คน 390 ล้านคน ซึ่งเป็นจำนวนที่มากกว่าผู้คนที่เผชิญความอดอยากหิวโหยอยู่ในโลกนี้ถึง 2 เท่า อาหารที่มาจากพืชที่เรายกตัวอย่างไปข้างต้นจะให้พลังงาน โปรตีน ไฟเบอร์ วิตามินและแร่ธาตุได้ในปริมาณที่เท่ากัน
งานวิจัยฉบับเดียวกันยังระบุว่า ในที่ดินผืนหนึ่งที่ผลิตโปรตีนพืชได้ 100 กรัม หากนำมาใช้ผลิตไข่จะผลิตโปรตีนได้เพียง 60 กรัมเท่านั้น หากนำมาใช้ผลิตเนื้อไก่จะได้โปรตีน 50 กรัม ที่แย่ที่สุดคือเนื้อวัว ที่ดินผืนเท่ากันจะผลิตโปรตีนจากเนื้อวัวได้เพียง 4 กรัมเท่านั้น
นักวิจัยได้คำนวณว่า หากเราทดแทนเนื้อหมู วัว ไก่ และไข่ ด้วยมันฝรั่ง ถั่วลิสง ถั่วเหลืองและพืชอื่นๆ ที่มีคุณค่าทางสารอาหารเท่ากัน ปริมาณอาหารที่มีพอเลี้ยงคนทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นถึง 120% หากการผลิตถูกปรับให้เข้ากับความต้องการของผู้บริโภค ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ก็จะลดลง
องค์การสหประชาชาติกล่าวว่า หาก 40% ของพืชผลที่นำไปเป็นอาหารสัตว์ตอนนี้ ถูกเปลี่ยนไปเป็นอาหารให้คนแทน ในปี 2050 เราจะมีที่ดินในการปลูกพืชมากพอที่จะเลี้ยงคน 9 พันล้านคน ในทางกลับกัน ถ้าหากความต้องการบริโภคเนื้อสัตว์ของโลกเพิ่มขึ้นอย่างที่คาดการณ์ไว้ เราจะต้องผลิตถั่วเหลืองให้ได้มากขึ้น 80% ภายในปี 2050
ข้อมูลหนักไม่เบาใช่ไหมล่ะคะ ตอนนี้เราคงได้เข้าใจตรงกันแล้วว่าไลฟ์สไตล์แบบวีแกนไม่ใช่ปัจจัยหลักในการผลิตถั่วเหลือง และจะไม่มีวันเป็นปัจจัยหลักเด็ดขาด เราอยากขอเชิญให้คุณมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวนี้ เพื่อความยั่งยืนของการผลิตอาหาร ความมั่นคงด้านอาหาร และเพื่อชีวิตสัตว์ด้วย มาร่วมทีมอาสาสมัครของเรากันนะคะ