โรคสายพันธุ์ใหม่ เช่น ไวรัสโคโรน่า อาจเกิดจากอุตสาหกรรมปศุสัตว์
- องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศยกระดับไวรัสโคโรน่าเป็นภาวะฉุกเฉินโลก
- ในบรรดาโรคทั้งหมดของมนุษย์ กว่า 60% มาจากสัตว์
- มีการคาดการณ์ว่า ภายในปี 2050 ผู้คนกว่า 10 ล้านคนจะต้องเสียชีวิตเนื่องจากเชื้อโรคดื้อยา
- จากการใช้ยาปฏิชีวนะทั้งหมดในโลก กว่าสามในสี่ถูกใช้ในการปศุสัตว์
องค์กรอนามัยโลกได้ประกาศยกระดับไวรัสโคโรน่าเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณะสุขแล้ว และนอกจากนี้ ในงานแถลงข่าวเมื่อวันที่ 30 มกราคม ก็ยังระบุว่าไวรัสโคโรน่าเป็น “การระบาดอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน” การผลิตและการบริโภคเนื้อสัตว์อาจจะอยู่เบื้องหลังการระบาดของไวรัสนี้ และไวรัสอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกแห่งสหประชาชาติระบุว่า ในบรรดาโรคทั้งหมดที่เกิดในมนุษย์ 60% เป็นโรคที่เกิดจากสัตว์ ขณะนี้ ทุกๆ ปี ผู้คนกว่า 700,000 คน ต้องจบชีวิตลงเนื่องจากเชื้อแบคทีเรียดื้อยาต้านจุลชีพ ซึ่งเกิดจากการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างไร้ความรับผิดชอบทั้งในสัตว์และในมนุษย์ กลุ่มประสานงานระหว่างองค์กร (Interagency Coordination Group) แห่งสหประชาชาติคาดการณ์ว่า ภายในปี 2050 อาการดื้อยาต้านจุลชีพจะทำให้กว่า 10 ล้านคนทั่วโลกต้องจบชีวิตลงในแต่ละปี เมื่อเทียบกับโรคระบาดอื่นๆ เช่นโรคไข้หวัดใหญ่ อัตราการเสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพนั้นสูงกว่ามาก องค์กรสหประชาชาติระบุว่า ทั่วโลกมีผู้คนเสียชีวิตจากโรคไข้หวัดใหญ่ 650,000 คน
จนถึงขณะนี้ มีผู้เสียชีวิตแล้ว 170 คนจากไวรัสโคโรน่า และมีคนที่ติดเชื้อแล้ว 8,100 คน ทั้งหมดเป็นชาวจีน และยังมีการพบผู้ติดเชื้อในอีก 20 ประเทศทั่วโลก เช่น ไต้หวัน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม รวมถึงประเทศไทย ซึ่งตอนนี้พบผู้ติดเชื้อรวมแล้ว 19 ราย
ไวรัสชนิดนี้แพร่อย่างรวดเร็ว และมีหลักฐานมากขึ้นเรื่อยๆ ที่ทำให้เชื่อได้ว่าการแพร่ของเชื้อไวรัสนี้เกิดจากสัตว์ เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ นักวิทยาศาสตร์จากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งประเทศจีน และเจ้าหน้าที่รัฐกระทรวงสาธารณสุขยืนยันแล้วว่า พบไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่จากตัวอย่างที่เก็บได้จากตลาดสดขายเนื้อในเมืองอู่ฮั่น ทำให้สรุปได้ว่าไวรัสดังกล่าวมาจากสัตว์ป่าซึ่งวางขายอยู่ในตลาด ตลาดแบบนี้เป็นที่นิยมมากในหมู่ผู้บริโภคชาวจีน เนื่องจากมีเนื้อสัตว์ทุกประเภทวางขาย รวมถึงเนื้อที่คนทั่วๆ ไปนิยมบริโภคกัน เช่นวัว หมู ไก่ และอาหารทะเล และเนื้อที่ได้จากสัตว์ป่า เช่น งูเป็นๆ เต่า ลูกสุนัขป่า หนูตะเภา หนูอ้น (Bamboo rats) เม่น และสัตว์สายพันธุ์อื่นๆ อีกมากมาย
ซิเนอร์เจีย แอนิมอล องค์กรพิทักษ์สัตว์นานาชาติขอใช้โอกาสนี้เพื่อเน้นย้ำว่า การรณรงค์ต่อต้านการค้าสัตว์ป่าเป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก แต่ปัญหาที่เกิดในการปศุสัตว์ก็สำคัญไม่แพ้กัน แม้กระนั้นก็ตาม ปัญหานี้กลับถูกเจ้าหน้าที่รัฐและผู้บริโภคมองข้าม “องค์การอนามัยโลกเตือนแล้วว่า เชื้อโรคดื้อยาต้านจุลชีพซึ่งเกิดจากการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างไร้ความรับผิดชอบอาจจะคร่าชีวิตผู้คนมากกว่าโรคมะเร็ง และโรคระบาดอื่นๆ เช่นไวรัสโคโรน่าและโรคไข้หวัดใหญ่เสียอีก” วิชญะภัทร์ ภิรมย์ศานต์ ผู้จัดการฝ่ายรณรงค์ประจำประเทศไทยของซิเนอร์เจีย แอนิมอลกล่าว
ยาปฏิชีวนะกว่าสามในสี่ของโลกถูกใช้ในการปศุสัตว์
ยาปฏิชีวนะเหล่านี้ใช้กันทั่วไปในการปศุสัตว์ เช่นในลาตินอเมริกา หมูและไก่เนื้อถูกเลี้ยงในฟาร์มอุตสาหกรรมที่แออัด และมีสภาพสุขอนามัยย่ำแย่ พวกเขาจึงต้องรับยาปฏิชีวินะอย่างต่อเนื่องเพื่อเร่งโตและเพื่อป้องกันโรคต่างๆ วิชญะภัทร์กล่าวว่า“สัตว์นับล้านๆ ชีวิตถูกขังอยู่อย่างนี้ตลอดชีวิตในฟาร์มอุตสาหกรรม และหลายต่อหลายครั้ง พวกเขาต้องรับยาปฏิชีวนะอย่างต่อเนื่อง แม้จะไม่ได้ป่วย ที่ต้องทำอย่างนี้ก็เพื่อเร่งให้พวกเขาโตเร็วๆ และป้องกันไม่ให้ติดเชื้อโรค สัตว์เหล่านี้เกิดอาการดื้อยาเนื่องจากได้รับยาปฏิชีวนะปริมาณต่ำอย่างต่อเนี่อง และเชื้อโรคดื้อยาจากเนื้อสัตว์ก็ติดต่อสู่คนผ่านการบริโภค ผู้คนนับแสนต้องจบชีวิตลงทุกๆ ปีเนื่องจากเชื้อโรคดื้อยาต้านจุลชีพ จำนวนผู้เสียชีวิตรวมกันมากกว่าโรคระบาดเสียอีก แต่กลับไม่มีใครพูดถึงประเด็นนี้เลย”
งานวิจัยซึ่งตีพิมพ์ลงในวารสารวิทยาศาสตร์ Science เมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว ระบุว่าขณะนี้มีจุดเกิดเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพในมุมต่างๆ ของโลก พื้นที่หลักๆ ที่เกิดเชื้อดื้อยาได้แก่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน สามเหลี่ยมปากแม่น้ำในประเทศเวียดนาม และจุดเกิดเชื้อดื้อยาเหล่านี้ก็กำลังเริ่มในเคนย่า โมรอคโค อุรุกวัย ตอนใต้ของบราซิล ตอนกลางของอินเดีย และตอนใต้ของจีน
งานวิจัยเผยว่า พื้นที่เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งเป็นประเทศที่อุตสาหกรรมการผลิตเนื้อกำลังขยายตัวเพื่อให้ตอบสนองต่อความต้องการเนื้อที่กำลังเพิ่มสูงขึ้นทุกขณะ สถานการณ์เช่นนี้ อาจนำไปสู่หายนะของการสาธารณะสุขในประเทศกำลังพัฒนา เนื่องจากว่าประเทศเหล่านี้ไม่มีทรัพยากรมากพอที่จะรับมือการแพร่ระบาดของเชื้อโรค และโดยมากมักมีมาตรฐานสุขอนามัยต่ำกว่า
สหภาพยุโรปได้ประกาศห้ามการใช้ยาปฎิชีวนะเพื่อเร่งโตแล้ว แต่ยังไม่มีกฎหมายลักษณะเดียวกันในประเทศไทย “เราทุกคนควรจะหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับอาหารที่เรารับประทาน และภัยคุกคามของฟาร์มอุตสาหกรรมต่อโลกของเรา สิ่งหนึ่งที่เราทำได้เพื่อไม่ให้มีสัตว์จำนวนมหาศาลถูกเลี้ยงอยู่ในสภาพที่ผิดธรรมชาติและไม่ถูกสุขลักษณะอย่างที่เป็นอยู่ตอนนี้ ก็คือการเลือกบริโภคอาหารอย่างรับผิดชอบ และดีต่อสุขภาพมากกว่านี้” วิชญะภัทร์กล่าว
ซิเนอร์เจีย แอนิมอล ขอเชิญชวนให้คนหันมาบริโภคอาหารมังสวิรัติและเข้าร่วมโครงการท้าลอง 22 วัน ผู้ที่ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการจะได้เข้ากลุ่มเฟสบุ๊ค และได้รับข้อมูลต่างๆ ด้านการปรับเปลี่ยนการบริโภคและสารอาหารจากนักกำหนดอาหารมืออาชีพ