top of page

5 ประเด็นที่แสดงให้เห็นว่าแมคโดนัลด์ยังไม่เข้าใจการรณรงค์ของเรา

หลังจากการรณรงค์จากซิเนอร์เจีย แอนิมอลเป็นเวลาสี่เดือน เพื่อขอให้แมคโดนัลด์เลิกใช้ไข่ไก่จากฟาร์มระบบกรง ในที่สุดฟาสต์ฟู้ดรายยักษ์นี้ก็ได้ออกมาตอบแล้ว แต่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง แทนที่แมคโดนัลด์จะพูดคุยกับเราและผู้สนับสนุนที่ลงชื่อในแคมเปญรณรงค์ของเรากว่า 16,000 คนโดยตรง กลับไปตอบกลับสื่อออนไลน์ The People แทน

หลังจากที่ได้อ่านคำตอบของแมคโดนัลด์ต่อ The People แล้ว ซิเนอร์เจีย แอนิมอลพบว่ามีประเด็นที่ต้องชี้แจงและยังมีข้อสงสัย ต่อไปนี้คือ 5 ประเด็นที่ชี้ให้เห็นว่าแมคโดนัลด์ไม่เข้าใจข้อความในการณรงค์ของเราอย่างถ่องแท้

1. ข้อมูลของเราเกี่ยวกับการปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียแซลโมเนลลามีที่แหล่งที่มาชัดเจน

แมคโดนัลด์ประเทศไทยกล่าวว่าซิเนอร์เจีย แอนิมอลไม่มีแหล่งที่มาที่ชัดเจนเมื่อกล่าวว่าไข่จากฟาร์มระบบกรงมีการปนเปื้อนเชื้อแซลโมเนลลาสูงกว่า แต่ว่าเรามีแหล่งที่มาชัดเจนสำหรับคำกล่าวนี้ ซึ่งเป็นงานวิจัยจากหน่วยงานด้านความมั่นคงทางอาหารแห่งสหภาพยุโรป (European Food Safety Authority- EFSA) งานวิจัยฉบับนี้เป็นงานวิจัยชิ้นที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาในประวัติศาตร์ ซึ่งเปรียบเทียบอัตราการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรียแซลโมเนลาระหว่างฟาร์มที่ใช้กรงและฟาร์มปลอดกรง (cage-free) เราแปลกใจที่ได้ทราบว่าแมคโดนัลด์ประเทศไทยไม่อ่านเนื้อหาในแคมเปญรณรงค์ของเราอย่างละเอียด และยังไม่ตรวจสอบแหล่งอ้างอิงที่เราได้แนบไว้แล้วแล้วในเนื้อหาของแคมเปญ เราหวังว่าแมคโดนัลด์ประเทศไทยจะใส่ใจอ่านเนื้อหาในแคมเปญรณรงค์และดูแหล่งอ้างอิงที่แนบไว้แล้วให้มากกว่านี้

อีกทั้งแมคโดนัลด์น่าจะทราบดีว่าไข่ไก่จากฟาร์มปลอดกรงดีกว่าในด้านความปลอดภัยด้านอาหาร ไม่อย่างนั้นก็คงจะไม่ประกาศนโยบายว่าจะสั่งซื้อไข่ไก่จากฟาร์มที่ไม่ใช้กรงเท่าในในสหรัฐอเมริกาและลาตินอเมริกา

2. ภาพที่แมคโดนัลด์ส่งมาบอกเรื่องราวไม่ครบถ้วน

แมคโดนัลด์บอกว่าภาพที่ซิเนอร์เจีย แอนิมอลใช้ในการรณรงค์ครั้งนี้ไม่ได้มาจากฟาร์มที่ส่งไข่ไก่ให้แมคโดนัลด์ แต่ทางเราเองก็ไม่เคยอ้างว่าภาพที่เราใช้นั้นมาจากผู้ค้าไข่ไก่ให้แมคโดนัลด์ ในวีดีโอที่เราใช้ในการรณรงค์ ก็ระบุไว้ชัดเจนว่าภาพที่ใช้เป็นเป็นเพียงภาพที่แสดงตัวอย่างของฟาร์มแบบกรงตับเท่านั้น และไม่ได้บอกว่ามาจากผู้จัดหาไข่ไก่รายใด อีกทั้งกรงตับ เป็นวิธีหรือเครื่องมือที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อการผลิตเชิงอุตสาหกรรมโดยไม่คำนึงถึงสวัสดิภาพของสัตว์อยู่แล้ว ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นที่ใดในโลก แม่ไก่ก็จะต้องทนทุกข์จากปัญหาด้านสวัสดิภาพในลักษณะคล้ายกัน

ภาพซ้าย : ภาพที่แมคโดนัลด์ประเทศไทยส่งให้ The People ซึ่งไม่ได้แสดงภาพความเป็นอยู่ของแม่ไก่จริงๆ ดูแล้วน่าจะเป็นภาพไก่รุ่น (pullets) ซึ่งเป็นวัยที่ยังไม่วางไข่

ภายขวา : ภาพแสดงสภาพความเป็นอยู่ของแม่ไก่ในกรงตับ (Battery cages)

จริงๆ แล้วภาพและข้อความที่แมคโดนัลด์ส่งให้กับ The People นั้นก่อให้เกิดความสับสนเป็นอย่างมาก ภาพที่เห็นไม่ใช่ภาพไก่ไข่ แต่ดูแล้วน่าจะเป็นภาพกรงสำหรับไก่ตัวเมียอายุน้อยกว่าหนึ่งปีซึ่งยังไม่เริ่มวางไข่ (pullets) แม่ไก่ที่โตเต็มวัยและผลิตไข่ไก่จะอยู่ในระบบกรงที่ต่างไปจากนี้ ซึ่งเป็นกรงแบบที่มีพื้นที่ให้คนงานเข้าไปเก็บไข่ได้ และเมื่อไก่มีอายุมากขึ้นและมีตัวโตกว่านี้ กรงก็จะมีสภาพย่ำแย่และแออัดกว่าที่เห็นในภาพ

3. ปัญหาด้านสวัสดิภาพของแม่ไก่ในระบบกรงเป็นข้อเท็จจริงที่ปฏิเสธไม่ได้

มีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจน พิสูจน์แล้วว่าแม่ไก่ที่ถูกเลี้ยงในกรงแสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติที่สำคัญต่อพวกเขาแทบไม่ได้ มีงานวิจัยหลายฉบับที่ระบุว่าแม่ไก่ที่ถูกขังอยู่ในกรงต้องทนทุกข์ทรมานกับความเครียด ความหงุดหงิด ปัญหาด้านกระดูก เราจึงสับสนเป็นอย่างมากเมื่อแมคโดนัลด์กล่าวว่าไข่ไก่ที่แมคโดนัลด์ใช้มาจากแม่ไก่ที่ “มีอิสระในการแสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติของสัตว์” ซึ่งหากเป็นอย่างนั้นจริงๆ ก็จะต้องหมายความว่าแม่ไก่อยู่ในฟาร์มแบบ cage-free

แมคโดนัลด์ยังกล่าวอีกว่าแม่ไก่ที่ผลิตไข่ไก่ให้แมคโดนัลด์ “มีพื้นที่ยืนและพื้นที่ว่างให้หมุนตัวปรับเปลี่ยนท่าทางได้สะดวก” แต่แค่นี้ยังไม่ดีพอสำหรับพวกเขา เพื่อให้แม่ไก่มีความเป็นอยู่ที่ดีจริงๆ พวกเขาต้องมีที่ให้เดินไปเดินมาได้อย่างเป็นอิสระ และทำพฤติกรรมตามธรรมชาติที่สำคัญสำหรับพวกเขาได้ เช่นการเกาะคอน คลุกฝุ่น คุ้ยเขี่ยดิย และวางไข่ในรัง

แมคโดนัลด์ยังกล่าวอีกว่าฟาร์มที่ส่งไข่ไก่ให้แมคโดนัลด์เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดโดยสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แต่สิ่งที่กำหนดไว้ในมาตรฐานนี้ยังเป็นเพียงมาตรฐานขั้นต่ำตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งยังไม่อาจถือได้ว่าดีพอสำหรับสัตว์ อีกทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านสวัสดิภาพสัตว์ก็ไม่เห็นว่ามาตรฐานนี้ดีพอสำหรับสัตว์ และแมคโดนัลด์สามารถทำได้ดีกว่ามาตรฐานขั้นต่ำนั้น

น่าเสียดายที่มาตรฐานโดยสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ระบุว่า ไก่รุ่นแต่ละตัวต้องมีพื้นที่ 285 ตารางเซนติเมตร และแม่ไก่วัยวางไข่ต้องมีพื้นที่ตัวละ 450 ตารางเซนติเมตร หากเป็นไปตามมาตรฐานที่ว่า พื้นที่ที่แม่ไก่แต่ละตัวมีก็ยังเล็กกว่ากระดาษ A4 หนึ่งแผ่น ซึ่งมีพื้นที่ 623.7 ตารางเซนติเมตร แม่ไก่แทบจะทำอะไรไม่ได้เลยในพื้นที่เล็กกว่ากระดาษเอสี่เช่นนี้ ไม่มีสัตว์ชีวิตใดสมควรต้องมาอยู่ในสภาพแออัดแบบนี้

ภาพเพียงภาพเดียวที่แมคโดนัลด์ส่งให้ The People ไม่ได้แสดงสภาพความเป็นอยู่ของไก่อย่างชัดเจน เราจึงอยากขอเชิญให้แมคโดนัลด์เผยแพร่ภาพมากกว่านี้ เพื่อให้สาธารณะชนได้เห็นสภาพความเป็นอยู่ของแม่ไก่ชัดเจนขึ้น

4. เรื่องปริมาณไม่พอไม่ควรเป็นปัญหา

เรายินดีที่ได้เห็นแมคโดนัลด์แสดงความสนใจไข่ไก่แบบ cage-free แต่เราไม่เห็นด้วยตรงที่ว่าเรื่องปริมาณไข่ไก่ไม่เพียงพอจะทำให้แมคโดนัลด์ประกาศเจตนารมณ์สั่งซื้อไข่ไก่จากระบบ cage-free เท่านั้นไม่ได้ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด(มหาชน) หรือซีพีเอฟ ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตไข่ไก่ให้กับแมคโดนัลด์ได้เริ่มลงทุนในระบบแบบปลอดกรงแล้ว หากแมคโดนัลด์แสดงความสนใจในการสั่งซื้อไข่ไก่cage-free แน่นอนว่าซีพีเอฟก็จะพยายามผลิตไข่ไก่ cage-free ให้มากขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของแมคโดนัลด์ และวิธีหนึ่งที่จะแสดงให้เห็นความมุ่งมั่นของแมคโดนัลด์อย่างเป็นรูปธรรม และช่วยขับเคลื่อนให้ระบบการเลี้ยงไก่แบบ cage-free เดินหน้าไปได้ ก็คือการประกาศนโยบายให้ชัดเจน ให้เหมือนกับที่แมคนัลด์เคยทำมาแล้วในสหรัฐอเมริกาและลาตินเอมริกา

ภาพสกรีนชอตจากวีดีโอส่งเสริมการขายของแมคโดนัลด์จากปี 2019 ซึ่งระบุว่าแมคโดนัลด์ในสหรัฐอเมริกาใช้ไข่ไก่แบบ cage-free 33% จากปริมาณไข่ไก่ทั้งหมด

นอกจากนี้ แม้ตอนนี้จำนวนไข่ไก่จะยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของแมคโดนัลด์ก็ไม่ใช่ปัญหาเลยแม้แต่น้อย แมคโดนัลด์ประเทศไทยสามารถเริ่มใช้ไข่ไก่แบบ cage-free ในห่วงโซ่อุปทานเท่าที่มีก่อนได้ หลังจากนั้นก็ค่อยๆ เพิ่มเปอร์เซ็นต์ของไข่ไก่แบบ cage-free ไปเรื่อยๆ เมื่อไข่ไก่แบบ cage-free มีมากขึ้นในตลาด เช่น ในขณะนี้ แมคโดนัลด์ในสหรัฐอเมริกาก็ใช้ไข่ไก่ แบบ cage-free เพียง 33% จากปริมาณที่ใช้ทั้งหมด ปริมาณไม่ควรจะเป็นปัญหาที่ทำให้แมคโดนัลด์ประเทศไทยยังประกาศเจตนารมณ์ในประเทศไทยไม่ได้

จริงๆ แล้ว คำประกาศนโยบายเช่นนี้เองที่จะเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้แมคโดนัลด์มีปริมาณไข่ไก่เคจฟรีใช้มากพอในอนาคต คำประกาศเจตนารมณ์อย่างเป็นทางการเช่นนี้เป็นดั่งคำสัญญาต่อผู้ผลิตไข่ไก่ว่าจะมีตลาดรองรับสำหรับไข่ไก่แบบ cage-free แน่นอน และทำให้ผู้ผลิตมีความเชื่อมั่นที่จะเปลี่ยนระบบไปใช้ฟาร์มแบบ cage-free ซึ่งเป็นระบบที่ดีต่อสัตว์มากกว่า

เราขอย้ำอีกครั้งว่า แมคโดนัลด์จะมีเวลาเพื่อเปลี่ยนระบบจนถึงปี 2025 คืออีกหกปีนับจากนี้ เรามั่นใจว่าบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับพันล้านเช่นแมคโดนัลด์มีทรัพยากรและความสามารถเพียงพอที่จะเปลี่ยนแปลงระบบนี้ได้ สิ่งที่ขาดหายไปตอนนี้ก็คือความมุ่งมั่นที่จะทำให้โลกนี้เป็นโลกที่ดีกว่าสำหรับสัตว์

5. แมคโดนัลด์อาจให้ความสำคัญกับธุรกิจมากกว่าสวัสดิภาพสัตว์

เราได้ทราบจากการติดต่อกับแมคโดนัลด์ประเทศไทยก่อนการเริ่มการรณรงค์ว่า แมคโดนัลด์ประเทศไทยไม่ประสงค์จะประกาศเจตนารมณ์สั่งซื้อไข่ไก่จากฟาร์ม cage-free เท่านั้น เนื่องจากว่าไม่พร้อมที่จะจ่ายเงินมากกว่าเดิมเมื่อเทียบกับไข่ไก่ที่สั่งซื้อจากฟาร์มแบบกรงในปัจจุบัน ฟังดูแล้วไม่ใช่เหตุผลที่ดีเลยสำหรับบริษัทระดับหลายพันล้าน ซึ่งบอกว่าตนเป็นบริษัทที่ “มีนโนบายที่เคร่งครัด ไม่ทนต่อความโหดร้ายทารุณต่อสัตว์ชนิดใดๆ ก็ตาม ภายในห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก” (“zero-tolerance policy on cruelty to any animal within [their] Global Supply Chain”)

ถึงเวลาแล้วที่แมคโดนัลด์ประเทศไทยจะทำตามสิ่งที่ตนกล่าวไว้ ถึงเวลาแล้วที่แมคโดนัลด์จะเลิกใช้มาตรฐานที่ต่ำกว่าต่อผู้บริโภคชาวไทยและสัตว์ในประเทศไทย ถึงเวลาแล้วที่แมคโดนัลด์จะกล่าวว่าพวกเขาใส่ใจในคุณภาพชีวิตของสัตว์มากกว่ากำไรมหาศาล เราขอยืนยันให้แมคโดนัลด์ประเทศไทยใช้มาตรฐานเดียวกันกับที่ใช้แล้วในอเมริกาและลาตินอเมริกา และประกาศเจตนารมณ์ว่าจะสั่งซื้อไข่ไก่จากฟาร์ม cage-free เท่านั้นในประเทศไทย

bottom of page