ยูเอ็นประกาศ "การเฝ้าระวังทั่วโลก" หลังพบไวรัสใหม่ในโรงเชือดหมูที่บราซิล
องค์การอนามัยโลกกล่าวเตือน กรณีพบผู้ป่วยสองรายในประเทศบราซิล ติดเชื้อไวรัสไข้หวัดชนิด A(H1N2) มีชื่อเป็นทางการว่า A(H1N2)v ซึ่งถือเป็นชนิดที่อาจกลายเป็นโรคระบาดระลอกใหม่ได้ สองคนนี้เป็นคนงานโรงฆ่าสุกรในรัฐปารานา ทางใต้ของประเทศบราซิล ซึ่งติดเชื้อและรักษาจนหายแล้ว
ส่วนผู้ป่วยรายล่าสุดเข้ารักษาเมื่อวันที่ 14 เมษายนที่ผ่านมา หลังจากนั้น ในวันที่ 22 มิถุนายนก็ได้มีรายงานส่งไปยังองค์กรอนามัยทวีปอเมริกา (Pan American Health Organization : PAHO) ซึ่งเป็นหน่วยงานระดับภูมิภาคภายใต้องค์การอนามัยโลก และเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม ไม่กี่วันที่ผ่านมานี้เองที่องค์กรอนามัยโลก ได้ประกาศเตือนบนเว็บไซต์หน้า 'Disease Outbreak News' หรือหน้ารายงานข่าวด่วนเกี่ยวกับการเกิดโรคระบาด เมื่อมองย้อนกลับไป เจ้าหน้าที่พบผู้ป่วยคนที่สอง ซึ่งก็เป็นคนงานจากโรงเชือดหมูโรงเดียวกันนี้เอง มีอาการป่วยในระบบทางเดินหายใจในช่วงเวลาเดียวกัน ทำให้คนงานดังกล่าวถูกสงสัยว่าอาจจะติดเชื้อไวรัส
นักวิทยาศาสตร์ยังคงดำเนินการตรวจสอบว่าไวรัสชนิดนี้จะแพร่จากคนสู่คนได้หรือไม่ หรือว่าจะเป็นเพียงแค่การแพร่จากสัตว์สู่คนเท่านั้น
ข้อความในคำประกาศขององค์การอนามัยโลกระบุว่า "ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2005 จนกระทั่งบัดนี้ องค์การอนามัยโลกได้รับรายงาน ว่ามีผู้ป่วยไข้หวัดชนิด A(H1N2)v เป็นจำนวน 26 ราย ซึ่งก็รวมถึงสองรายนี้จากบราซิลด้วย ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมีอาการป่วยไม่รุนแรงมาก และยังไม่มีหลักฐานที่ชี้ว่ามีการแพร่เชื้อจากมนุษย์สู่มนุษย์" นอกจากนี้ยังระบุเพิ่มเติมว่า “หากมีการพบผู้ติดเชื้อเพิ่มอีก ก็จะทำให้มีข้อมูลมากขึ้นในการประเมินความเสี่ยงของการแพร่เชื้อจากมนุษย์สู่มนุษย์”
เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะไม่มีโรคระบาดเกิดขึ้นอีกระลอก แต่ในขณะเดียวกัน เราก็มองข้ามไม่ได้เลยว่ามีงานวิจัยน่าเชื่อถือหลายต่อหลายฉบับ ที่แสดงให้เห็นความเชื่อมโยงระหว่างโรคระบาดชนิดใหม่ กับฟาร์มปศุสัตว์เชิงอุตสาหกรรม
1. ฟาร์มปศุสัตว์เชิงอุตสาหกรรมเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรคชนิดใหม่อย่างดี
การระบาดของโรคหลายต่อหลายครั้ง รวมถึงอีโบล่าและโรคเอดส์ เชื่อกันว่าเกิดจากการบริโภคผลิตภัณฑ์จากสัตว์ นอกจากนี้ นักวิทยาศาสตร์และองค์กรต่างๆ ก็ลงความเห็นตรงกันว่าฟาร์มปศุสัตว์เชิงอุตสาหกรรมนี่เองที่อาจเป็นแหล่งกำเนิดโรคระบาดชนิดใหม่ในอนาคต แม้นี่จะไม่ใช่การค้นพบใหม่ล่าสุด แต่ก็กลายเป็นประเด็นที่มีคนสนใจเป็นอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะนี้ ซึ่งเป็นช่วงที่เรากำลังได้รับผลกระทบจากโควิด-19
เมื่อไม่กี่วันมานี้เองโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (the United Nations Environment Programme: UNEP)ได้เผยแพร่รายงานที่กล่าวเตือนว่า ปัจจัยต่างๆ เช่นกิจกรรมการเกษตรซึ่งมุ่งเน้นผลผลิตอย่างหนัก และความต้องการโปรตีนจากเนื้อสัตว์ การตัดไม้ทำลายป่า และภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงอาจะทำให้เกิดโรคระบาดชนิดใหม่ซึ่งเป็นโรคระบาดที่เกิดในสัตว์ ก่อนแพร่ไปสู่มนุษย์ คล้ายกับโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่
รายงานฉบับนี้อธิบายว่าสัตว์ในฟาร์ม เช่น วัว หมูและไก่ อาจทำให้โรคติดต่อแพร่ง่ายขึ้น เนื่องจากสัตว์เหล่านี้ โดยมากแล้วมักเลี้ยงในสภาพที่ “ไม่สู้จะดีนัก” เพื่อให้มีผลิตภัณฑ์จำนวนมากกว่า และมักจะอยู่ในสถานที่ที่ขาดความหลากหลายทางสายพันธุ์ ทำให้โรคแพร่กระจายไปได้ง่ายกว่าเมื่อเทียบกับสถานที่ที่มีสัตว์หลากหลายสายพันธุ์อยู่รวมกัน ยิ่งไปกว่านั้น สัตว์ในการปศุสัตว์ส่วนใหญ่ตอนนี้อยู่ในระบบที่เรียกว่าฟาร์มเชิงอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นระบบที่ขังสัตว์นับพันๆ ชีวิตไว้ด้วยกัน ไม่มีโอกาสให้สัตว์รักษาระยะห่างจากกันได้เลย
ในประเทศรายได้ปานกลางถึงรายได้ต่ำหลายประเทศ เช่นประเทศไทย มีการบริโภคผลิตภัณฑ์จากสัตว์สูงขึ้น ทำให้ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมานี้ ทั่วโลก อุตสาหกรรมการผลิตเนื้อสัตว์เติบโตขึ้น 260% และอุตสาหกรรมไข่ไก่เติบโตขึ้น 360% ไม่น่าแปลกใจเลยที่ย่อหน้าหนึ่งในรายงานระบุว่า “ตั้งแต่ปีค.ศ.1940 กิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นเพื่ออำนวยการผลิตที่เพิ่มมากขึ้น เช่น การสร้างเขื่อน การชลประทาน และการปศุสตว์เชิงอุตสาหกรรม มีส่วนเกี่ยวข้องกับโรคติดเชื้อกว่า 25% และโรคติดต่อจากสัตว์กว่า 50% จากบรรดาโรคติดเชื้อทั้งหมดที่เกิดในมนุษย์”
2. คนงานโรงฆ่าสัตว์ต้องแบกรับความเสี่ยงอย่างหนัก
กรณีผู้ติดเชื้อไข้หวัด A(H1N2)v รายใหม่ทั้งสองรายในบราซิลนั้นเป็นคนงานโรงฆ่าสัตว์ไม่ใช่เพียงเรื่องบังเอิญ
คนงานในโรงงานแพ็กเนื้อสัตว์และฟาร์มปศุสัตว์เชิงอุตสาหกรรมมีความเสี่ยงที่จะสัมผัสกับของเหลวจากร่างกาย และมูลของสัตว์ในฟาร์มมากกว่าพวกเราทุกคน เนื่องจากว่าพวกเขาต้องจับ เชือด และชำแหละหมู วัว ไก่และปลา นับล้านๆ ชีวิต เป็นประจำทุกวัน พวกเขานี่เองคือผู้ที่ต้องแบกรับความเสี่ยงมากที่สุด
ถ้าหากของเหลวจากร่างกายสัตว์ปนเปื้อนเชื้อโรคมาด้วย คนงานเหล่านี้เองที่จะเป็นผู้ได้รับเชื้อเป็นคนแรกๆ และส่งต่อเชื้อโรคให้คนอื่นๆ ต่อไป
โรงฆ่าสัตว์และฟาร์มปศุสัตว์เชิงอุตสาหกรรมไม่ใช่แค่สถานที่ "อย่างดี" ที่จะเอื้อต่อการส่งผ่านโรคจากสัตว์มาสู่มนุษย์เป็นขั้นแรก เท่านั้น แต่ยังเป็นที่ที่จะทำให้เชื้อโรคแพร่จากคนสู่คน จนสุดท้ายก็แพร่ไปทั่ว ช่วงการระบาดโควิด-19 โรงฆ่าสัตว์ในหลายๆ ประเทศ กลายเป็นจุดรวมผู้ติดเชื้อ ที่เกิดเรื่องอย่างนี้ขึ้นก็เนื่องจากว่าสภาพการทำงานในโรงเชือดและโรงแพ็กเนื้อแออัด คนงานรักษาระยะห่างระหว่างกันไม่ได้ และในบางกรณีก็ต้องทำงานเป็นระยะเวลายาวนานเหน็ดเหนื่อยเป็นเวลาหลายชั่วโมง และสภาพสุขอนามัยก็ไม่ได้มาตรฐาน รวมถึงความเปราะบางทางสังคมของคนงานเหล่านี้ด้วย เราจึงสรุปได้ว่าไม่มีใครเลยที่อยากทำงานในโรงเชือดสัตว์
3. ไวรัสกำลังกลายพันธุ์ และนี่เองอาจเป็นอันตรายต่อมนุษย์อย่างมากในอนาคต
ผู้ป่วยโรคไข้หวัดรายใหม่ซึ่งพบในบราซิลนี้ เป็นสายพันธุ์ที่กลายมาจากไวรัส A(H1N2) และองค์การอนามัยโลกก็กล่าวว่า "ยังคงต้องตรวจสอบเพื่อระบุลักษณะทางพันธุกรรมและลักษณะปรากฎ (genetic and phenotypic) ของไวรัสจากผู้ป่วยทั้งสองรายนี้ต่อไป" ซึ่งหมายความว่าไวรัสพวกนี้เปลี่ยนตัวเองอยู่ตลอดเวลา ซึ่งก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ แต่ก็ใช่ว่าจะไม่เกิดอันตรายใดๆ กับมนุษย์
การกลายพันธุ์บางครั้งอาจไม่มีผลอะไรเลย หรือมีผลเล็กน้อยมาก ในบางครั้งก็อาจขัดขวางการแพร่ของไวรัส แต่ท้ายที่สุดแล้ว ก็จะทำให้เกิดสายพันธุ์ใหม่ที่แข็งแรงกว่าเดิม และมีความสามารถในการแพร่จากคนไปสู่คนได้ง่ายกว่าเดิม
ขณะนี้ ผู้ป่วยส่วนใหญ่ติดเชื้อจากการสัมผัสโดยตรงกับไวรัสไข้หวัดหมู(swine influenza) จากการสัมผัสกับสัตว์ที่มีเชื้อหรือสิ่งแวดล้อมที่มีการปนเปื้อน แต่ไวรัสอาจจะพัฒนาไปจนกระทั่งแพร่จากมนุษย์สู่มนุษย์ได้ หรือไม่ก็อาจจะกลายพันธุ์จนไม่สามารถป้องกันด้วยวัคซีนใดๆ เลยที่เรามีอยู่ในขณะนี้
เพื่อป้องกันโรคระบาดชนิดใหม่และระลอกใหม่ เราต้องปฏิวัติระบบอาหารปัจจุบัน ซึ่งเป็นระบบที่ล้มเหลว และในระดับปัจเจกบุคคล สิ่งที่เราจะทำได้คือการช่วยกันลดดีมานด์ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ เช่น เนื้อสัตว์ นม และไข่ไก่ อีกสิ่งหนึ่งที่เราทำร่วมกันได้คือขอให้ผู้นำของเราเริ่มลงมือป้องกันโรคระบาดชนิดใหม่และระลอกใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต คลิกที่นี่เพื่อร่วมลงชื่อในแคมเปญของเรา