ผู้เชี่ยวชาญเตือน ไวรัสชนิดใหม่จากฟาร์มไก่อาจคร่าชีวิตมนุษย์กว่าครึ่งโลก
ทั่วโลก แต่ละปี ไก่กว่าล้านล้านชีวิตถูกเพาะพันธุ์และเลี้ยงในฟาร์มเพื่อผลิตเนื้อและไข่ การปศุสัตว์ก็เหมือนกับอุตสาหกรรมอื่นๆ ตรงที่มีเป้าหมายคือการผลิตให้ได้มากที่สุด ให้ได้กำไรมากที่สุดโดยลงทุนให้ต่ำที่สุด ด้วยเหตุนี้เอง สัตว์ในฟาร์มเชิงอุตสาหกรรมจึงต้องอยู่ในสภาพแออัดยัดเยียด ขาดระบบการระบายอากาศที่ดีและแสงธรรมชาติ สภาพสุขอนามัยย่ำแย่ และยังต้องเผชิญกับการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างไร้ความรับผิดชอบ ไม่ได้รับการดูและจากสัตวแพทย์อย่างเพียงพอ หรือบางครั้งก็ไม่มีเลย และยังไม่มีความหลากหลายทางสายพันธุ์ในพื้นที่ ปัจจัยทั้งหมดนี้เองที่นำไปสู่การเกิดโรคชนิดใหม่ ผู้เชี่ยวชาญเตือนแล้วว่า สถานการณ์อย่างนี้เองที่อาจนำไปสู่จุดจบของประชากรมนุษย์กว่าครึ่งหนึ่งของโลก
ไมเคิล เกรเกอร์นักวิทยาศาสตร์และแพทย์จากสหรัฐอเมริกา ได้เขียนหนังสือชื่อว่า
"เราจะรอดจากโรคระบาดได้อย่างไร" ซึ่งเตือนว่าโลกของเราอาจจะต้องเผชิญกับโรคระบาดอีกหลายระลอก ซึ่งอาจรุนแรงกว่าโควิด-19 ด้วยซ้ำ หากเรายังคงเพาะพันธุ์และเลี้ยงไก่แบบที่เราทำอยู่ตอนนี้ต่อไปเรื่อยๆ
นายแพทย์เกรเกอร์กล่าวว่า “หากพูดเรื่องการแพร่เชื้อไวรัสจากมนุษย์สู่มนุษย์เช่นนี้ มันจะเกิดขึ้นแน่นอน อยู่ที่ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่เท่านั้นเอง” และยังย้ำว่า ไวรัสล้างโลกที่จะเกิดจากฟาร์มไก่อันแออัดและสกปรก อาจคร่าชีวิตประชากรมนุษย์กว่าครึ่งโลก "อารยธรรมแบบที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้อาจถึงกาลล่มสลาย"
ภาพจาก Andrew Skowron
ในหนังสือเล่มนี้ นายแพทย์เกรเกอร์ยังเน้นย้ำอีกว่ามีการระบาดของโรคหลายระลอกที่เกิดจากการบริโภคสัตว์ซึ่งโรคเหล่านี้เรียกว่าโรคระบาดจากสัตว์ หรือ Zoonotic diseases นายแพทย์เกรเกอร์กล่าวว่าไข้หวัด H5N1 ซึ่งระบาดในฮ่องกงเมื่อปีค.ศ. 1997 เป็นตัวอย่างแรก ในการระบาดครั้งนั้น รัฐบาลต้องฆ่าไก่กว่า 1.3 ลัานชีวิต เพื่อยับยั้งการระบาดของไวรัส แต่หลังจากนั้นก็ยังมีการระบาดเกิดขึ้นอีกระลอก ระหว่างปี 2003 และ 2009 นอกประเทศจีน แสดงให้เราเห็นว่าการระบาดอย่างนี้จะเกิดขึ้นซ้ำอีกต่อไปเรื่อยๆ
อีกตัวอย่างก็คือโรคไข้หวัดนก (avian flu) ซึ่งเป็นไวรัสที่แพร่ในสัตว์ปีก ตั้งแต่ปี 1996 จนถึง 2008 ไวรัส HPAI เกิดขึ้นอย่างน้อย 11 ครั้ง งานวิจัยหลายฉบับระบุว่าการเกิดโรคระบาดระลอกใหม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการผลิตเนื้อสัตว์ปีก ซึ่งขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้น
เมื่อจำนวนประชากรเพิ่มขึ้น ความต้องการอาหารก็เพิ่มสูงขึ้นไปด้วย ทำให้การปศุสัตว์ต้องเพิ่มความสามารถในการผลิตขึ้นไปอีก ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ ทำให้เกิดความเสียหายใหญ่หลวง สัตว์ถูกขังในพื้นที่แออัดคับแคบ ไม่ถูกหลักสุขอนามัย ยาปฏิชีวนะถูกใช้ในการปศุสัตว์มากขึ้น ทำให้เกิดแบคทีเรียดื้อยา การบริโภคเนื้อสัตว์ป่าซึ่งเป็นพาหะรวมโรคร้ายแรงหลายชนิด และการตัดไม้ทำลายป่าซึ่งเกิดจากการทำฟาร์มปศุสัตว์ และทำให้เรามีความเสี่ยงสัมผัสกับสัตว์ป่าและพาหะนำโรคมากขึ้น
นายแพทย์เกรเกอร์ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากลไม่ใช่แค่คนเดียวที่เน้นย้ำความเชื่อมโยงระหว่างการปศุสัตว์ที่เน้นการผลิตให้ได้มากๆ และโรคระบาด เมื่อเร็วๆ นี้ โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (The UN Environment Programme: UNEP) ได้เผยแพร่รายงาน ที่กล่าวว่า ปัจจัยต่างๆ เช่นกิจกรรมการเกษตรซึ่งมีการผลิตมากขึ้น และความต้องการโปรตีนจากเนื้อสัตว์ การตัดไม้ทำลายป่า และภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงอาจะทำให้เกิดโรคระบาดครั้งใหม่
UNEP ย้ำว่า ในประเทศรายได้ปานกลางถึงต่ำ มีความต้องการผลิตภัณฑ์จากสัตว์สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ทั่วโลก ช่วง 50 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมการผลิตเนื้อสัตว์เติบโตขึ้น 260% และอุตสาหกรรมผลิตไข่ไก่เติบโตขึ้น 340% ไม่น่าแปลกใจเลยที่ย่อหน้าหนึ่งในรายงานระบุว่า “ตั้งแต่ปีค.ศ.1940 กิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นเพื่ออำนวยการผลิตที่เพิ่มมากขึ้น เช่น การสร้างเขื่อน การชลประทาน และการปศุสัตว์เชิงอุตสาหกรรม มีส่วนเกี่ยวข้องกับโรคติดเชื้อกว่า 25% และโรคติดต่อจากสัตว์กว่า 50% จากบรรดาโรคทั้งหมดที่เกิดในมนุษย์
หากเราอยากจะป้องกันโรคระบาดระลอกใหม่ไม่ให้เกิดขึ้น เราต้องปฏิวัติระบบอาหารใหม่ทั้งหมด เราต้องเลิกบริโภคผลิตภัณฑ์จากสัตว์ และหันไปหาบริโภคอาหารที่มาจากพืชแทน การเลิกบริโภคเนื้อสัตว์ นม และไข่ เป็นหนทางหนึ่งที่ดีที่สุด ที่เราทุกคนทำได้เพื่อสิ่งแวดล้อมและเพื่อสาธารณสุขในระดับโลก และยังมีส่วนช่วยสร้างโลกที่เห็นอกเห็นใจและยุติธรรมต่อสัตว์มากกว่าอีกด้วย คลิกที่นี่หากอยากเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค แต่ไม่รู้จะเริ่มอย่างไรดี