"Eating Our Way to Extinction” เกี่ยวกับอะไรและดูได้ที่ไหน
ในฉากเปิดของสารคดีปี 2021 เรื่อง Eating Our Way to Extinction กำกับโดย Otto และ Ludovic Brockway ภาพต้นไม้ขนาดใหญ่ที่มีบทบาทสำคัญในระบบนิเวศมานานหลายร้อยปีล้มลง ทำให้ต้นไม้เล็ก ๆ อีกหลายต้นล้มตามไปด้วย นี่เป็นฉากที่กำหนดโทนของสารคดีนี้ในการบันทึกภาพเหตุการณ์ของผลกระทบจากอาหารของเรา ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ทำลายสิ่งแวดล้อมที่เราพึ่งพา และยังเป็นอันตรายต่อสุขภาพส่วนบุคคลและสาธารณะของเรา สารคดียังฝากข้อความสำคัญถึงผู้ชม: การกระทำสำคัญที่สุดที่ทุกคนสามารถทำได้เพื่อหยุดเป็นส่วนหนึ่งในการทำลายโลก และเพื่อรักษาสุขภาพของเราไว้ คือการหันมารับประทานอาหารจากพืชและเลิกใช้ผลิตภัณฑ์จากสัตว์
สารคดีเรื่อง Eating Our Way to Extinction เกี่ยวกับการใช้ชีวิตแบบวีแกนหรือไม่
Eating Our Way to Extinction อาจถูกมองว่าเป็นภาพยนตร์สารคดีวีแกนได้ แต่แก่นแท้ของภาพยนตร์เรื่องนี้กล่าวถึงมากกว่าการเลิกบริโภคผลิตภัณฑ์จากสัตว์ เป็นเรื่องของโศกนาฏกรรมที่เรากำลังจะสูญเสียโลกและสิ่งแวดล้อมของเรา จุดเริ่มต้นของเรื่องเศร้าเริ่มด้วยเรื่องราวของชนพื้นเมืองที่กำลังเฝ้ามองบ้าน ผืนดิน และผืนป่าที่พวกเขาอาศัยอยู่กันมารุ่นต่อรุ่นกำลังถูกเผาทำลาย เพื่อเปลี่ยนผืนป่าอเมซอนอันยิ่งใหญ่ให้เป็นไร่สวนสำหรับปลูกถั่วเหลือง เนื้อเรื่องดำเนินต่อด้วยการอธิบายถึงการดับสลายของโลกอย่างช้า ๆ การที่มหาสมุทรถูกทำลายด้วยปุ๋ยจากไร่นาที่ไหลมาตามน้ำ และจากการทำประมงเกินขีดจำกัดที่เกินกว่าระบบนิเวศน์ทางน้ำจะสามารถรับได้ สารคดียังคงบดขยี้ต่อปัญหาที่เกิดขึ้นจากอุตสาหกรรมและการเกษตรแบบใหม่ ที่เล่าถึงภาวะโลกร้อนและความแปรปรวนของสภาพอากาศ เชื้อดื้อยาปฏิชีวนะ พลาสติกในทะเล และปัจจัยอื่น ๆ ที่ส่งผลทำลายโลก ที่นอกจากจะคุกคามต่อความสัมพันธ์ทางธรรมชาติของโลกแล้ว ยังเป็นภัยต่อการอยู่รอดของมนุษย์และสายพันธุ์อื่น ๆ อีกด้วย สารคดีเรื่องนี้ไม่ได้เน้นเรื่องความทุกข์ทรมานของสัตว์ในฟาร์ม แต่เจาะลึกไปที่โศกนาฏกรรมที่กำลังเกิดขึ้นกับโลก
สารคดีนี้ไม่ทิ้งให้ผู้ชมรู้สึกหมดหวัง แต่มุ่งให้เห็นเส้นทางแห่งความหวังด้วยอาหารจากพืช การเปลี่ยนแปลงที่ไม่เพียงแต่เอร่อยเท่านั้นแต่ยังเพิ่มทางเลือกที่คล้ายคลึงกับผลิตภัณฑ์จากสัตว์มากมาย อาหารจากพืชยังช่วยส่งเสริมสุขภาพ ช่วยยืดอายุให้ใครหลายคน และลดความเสี่ยงในการเป็นโรคหลายประการอีกด้วย
ใครเป็นผู้ให้ทุนสนับสนุน “Eating Our Way to Extinction”
Eating Our Way to Extinction ได้รับทุนสร้างจากหลายองค์กรที่ได้ระบุไว้ในเครดิตท้ายเรื่อง ซึ่งโครงการ Indiegogo ได้รวบรวมเงินสนับสนุนเป็นจำนวนมากกว่า 175,000 ดอลลาร์สหรัฐ และจากผู้บริจาครายย่อยอีกจำนวน 1,564 คน นอกจากนั้น ยังมีอีกหลายองค์กรที่เป็นพันธมิตรกับผู้กำกับในการสร้างสารคดี ได้แก่ Veganuary, Ecosia, The Baum Foundation, OWC, Plant Based News, Fathom Events, Blue Horizon, The Perfect World Foundation, The LiveKindly co., และ Veg Capitol.
ผู้ดำเนินเรื่องและคณะผู้จัด
Eating Our Way to Extinction มีผู้ดำเนินเรื่องหลายคนที่ให้ความสำคัญอย่างมากเกี่ยวกับเรื่องสิ่งแวดล้อมและผลกระทบจากอาหารที่เรากิน สารคดีนี้ยังได้รับการบรรยายเสียงโดย Kate Winslet ผู้ชนะรางวัลออสการ์ที่มีผลงานบรรยายมาแล้วมากมาย ร่วมกับกลุ่มนักวิชาการ นักกิจกรรม และเหล่าผู้มีอิทธิพลในกลุ่มวีแกน ได้แก่
Anthony Tony Robbins นักเขียน นักธุรกิจ และผู้ให้คำแนะนำทางธุรกิจ
Richard Branson โปรดิวเซอร์และนักแสดงที่มีชื่อเสียงจากภาพยนตร์เรื่อง Around the World in 80 Days (2004) และเจ้าของบริษัทการบินอวกาศ Virgin Galactic
Sylvia Earle นักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกัน และอดีตนักวิทยาศาสตร์หลักที่กรมอุตุนิยมวิทยาแห่งชาติ (National Oceanic and Atmospheric Administration)
Jeremy Rifkin ผู้เขียนหนังสือ The Third Industrial Revolution (2018) และโปรดิวเซอร์ของภาพยนตร์ที่สร้างจากหนังสือ
Olivier De Schutter นักวิจัยชาวเบลเยียมผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์และเป็นศาสตราจารย์ด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัย UCLouvain
Bruce Friedric ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานองค์กร The Good Food Institute
Tara Garnett นักวิจัยจากสถาบันการเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัย Oxford
Michael Greger แพทย์และผู้ก่อตั้ง Nutritionfacts.org
ดู “Eating Our Way to Extinction” ได้ที่ไหน
Eating Our Way to Extinction มีเนื้อหาที่เป็นประเด็นสำคัญ จึงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับทีมผู้สร้างภาพยนตร์ที่ผู้ชมจะต้องเข้าถึงหนังได้อย่างง่ายดาย สามารถรับชมได้ฟรีบน Youtube ในภาษาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาษาอังกฤษ สเปน (ทั้งแบบ Castilian และ Latin American) อินโดนีเซีย มองโกเลีย ฮิบรู โปแลนด์ เกาหลี และฝรั่งเศส และนอกจากจะเข้าถึงได้ง่ายบน Youtube สารคดียังเข้าฉายใน Apple TV, Amazon ในสหรัฐอเมริกาและหลายประเทศ, Amazon สหราชอาณาจักร, Google Play และ Vudu หากต้องการดูสารคดีบน Youtube สามารถค้นหาโดยตรงในแพลตฟอร์ม หรือไปที่เว็บไซต์ของสารคดีโดยตรงซึ่งสามารถเข้าถึงสารคดีในทุกภาษาที่ทำไว้
การกินของเรานำไปสู่การสูญพันธุ์อย่างไร
อย่างที่สารคดีได้นำเสนอไว้ พฤติกรรมการบริโภคของเรากำลังผลักให้เราเข้าใกล้การสูญพันธุ์มากขึ้นเรื่อย ๆ อาหารทุกมื้อที่เราบริโภคกำลังส่งผลเสียต่อโลกเนื่องจากผลกระทบของอาหารนั้นขยายวงกว้างมากขึ้น หากเราเลือกบริโภคผลิตภัณฑ์จากสัตว์ เรากำลังมีส่วนทำให้เกิดวิกฤตต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการทำลายป่า ความเสื่อมโทรมของมหาสมุทร และเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะที่สามารถก่อให้เกิดโรคร้ายแรงได้
การทำลายป่าไม้
พื้นที่ป่าของโลกกำลังถูกทำลายเพื่อให้มีที่ว่างสำหรับหมู วัว ไก่ และสัตว์อื่น ๆ ที่ถูกเลี้ยงเพื่อเป็นอาหาร และพื้นที่เหล่านั้นยังถูกใช้เพื่อปลูกพืชเพื่อเป็นอาหารของสัตว์อีกด้วย การกระทำนี้ไม่เพียงสร้างความหายนะต่อระบบนิเวศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุดในโลก เช่น ป่าอเมซอน แต่ยังส่งผลกระทบต่อชุมชนพื้นเมืองที่ต้องพึ่งพาระบบนิเวศเหล่านี้ด้วย
นโยบาย
ในกลุ่มประเทศที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลก อุตสาหกรรมการเกษตรมีผลกระทบอย่างมากต่อนโยบายที่บังคับใช้ โดยทางอุตสาหกรรมจะสนับสนุนนโยบายที่เป็นผลดีต่อพวกเขา เช่น การจำกัดมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม และการมอบเงินอุดหนุนสินค้าเกษตรและเนื้อสัตว์ รวมถึงการจำกัดค่าใช้จ่ายที่จะส่งผลต่อกำไร
การทำลายล้างของมหาสมุทร
ไม่ว่าจะเป็นปลาที่จับตามธรรมชาติหรือถูกเลี้ยงในฟาร์ม ปลาที่เรากินล้วนมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและเป็นตัวการสำคัญในการทำลายมหาสมุทร ตามที่กล่าวไว้ในสารคดีว่าตั้งแต่ปี 1950 ปลาขนาดใหญ่กว่า 90% ถูกจับจากมหาสมุทร และการทำฟาร์มสัตว์น้ำ มีการใช้สารเคมีและยาฆ่าแมลงทั้งบนบกและในฟาร์มซึ่งทำให้เกิดมลพิษทางน้ำ
การดื้อยาปฏิชีวนะ
ประมาณสองในสามของยาปฏิชีวนะทั่วโลกถูกนำไปใช้กับสัตว์ ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาของเชื้อดื้อยา ภาวะที่เชื้อโรคมีการพัฒนาจนสามารถต่อต้านการทำงานของยาปฏิชีวนะได้ ซึ่งนำไปสู่การใช้ยาปฏิชีวนะที่ออกฤทธิ์แรงขึ้น และการที่เชื้อดื้อยาประกอบกับความแออัดและไม่ถูกสุขลักษณะของฟาร์มอุตสาหกรรม ทำให้สถานที่เหล่านี้สุ่มเสี่ยงต่อการเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของโรคที่อาจกลายเป็นโรคระบาดครั้งต่อไปได้
ความน่าเชื่อถือของ "Eating Our Way To Extinction"
สารคดีมีการอ้างอิงข้อมูลจากองค์กรและงานวิจัยที่มีชื่อเสียงหลายแห่ง รวมถึงบทความจากวารสารวิชาการอย่าง Nature งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยนานาชาติฟลอริดา และกองทุนสัตว์ป่าโลก (World Wildlife Fund) ซึ่งนอกจากจะมีการกล่าวถึงแหล่งข้อมูลในสารคดีแล้ว ยังมีการเผยแพร่ข้อมูลเพิ่มเติมบนหน้าเว็บไซต์ ทั้งบทความวิชาการ รายงานจากองค์กรระหว่างประเทศ เช่น องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) และ สหประชาชาติ (UN) และสื่อสิ่งพิมพ์จากสถาบันวิจัยชั้นนำอื่นๆ
นอกเหนือจากแหล่งข้อมูลจากงานเขียน สารคดีนี้ยังมีการผสมผสานข้อมูลผ่านการบอกเล่าจากประสบการณ์ตรงของผู้เชี่ยวชาญที่อยู่ในอุตสาหกรรมนั้น ๆ เกษตรกร และนักรณรงค์อีกมากมาย ที่ทำให้สารคดีนี้น่าสนใจและมีข้อมูลที่ถูกต้องตามข้อเท็จจริง
สาระสำคัญจาก “Eating Our Way to Extinction”
สิ่งที่ผู้ชมจะได้รับจาก “Eating Our Way to Extinction” คือข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่มีสาเหตุมาจากการบริโภคของเรา ซึ่งส่งผลต่ออนาคตของเราและคนที่เรารัก
มหาสมุทรกำลังถูกทำลายจากการประมงและมลพิษที่เกิดจากซากแหและอวนตกปลา ซึ่งมหาสมุทรเป็นแหล่งของสิ่งมีชีวิตที่มีส่วนสำคัญในการผลิตออกซิเจนที่เราใช้หายใจและเราต้องรักษาพวกเขาเอาไว้
เป็นที่รู้กันดีว่าอุตสาหกรรมปศุสัตว์มีโอกาสสูงต่อการเป็นแหล่งกำเนิดของโรคระบาดใหญ่ทั่วโลกครั้งต่อไป
หน่วยงานรัฐได้รับเงินทุนสนับสนุนทางการเมืองและถูกควบคุมโดยอุตสาหกรรมปศุสัตว์ด้วยเงินจำนวนหลายล้านดอลลาร์
อุตสาหกรรมปศุสัตว์เป็นสาเหตุสำคัญของการตัดไม้ทำลายป่า
การรับประทานอาหารแพลนต์เบสดีต่อสุขภาพของคนทุกช่วงวัยรวมถึงนักกีฬาด้วย
เราต้องเปลี่ยนแปลงตอนนี้เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมให้อยู่รอดไปสู่รุ่นต่อไป
การเปลี่ยนแปลงระดับบุคคลที่ส่งผลดีที่สุดที่ทุกคนสามารถทำได้คือการรับประทานอาหารแพลนต์เบส
สรุป
มีสารคดีหลายเรื่องที่แสดงให้เห็นถึงความโหดร้ายต่อสัตว์เพื่อให้ได้เบอร์เกอร์หรือซูชิมา แต่ “Eating Our Way to Extinction” เน้นไปที่ผลกระทบต่ออุตสาหกรรมปศุสัตว์มีต่อโลกหรือ 'บ้าน’ ของเรา แสดงให้เห็นถึงสถานการณ์อันตรายที่เกิดขึ้นจากพฤติกรรมการบริโภคอาหารของเรา และฝากข้อคิดกับผู้ชมว่าการเปลี่ยนแปลงระดับบุคคลที่ทุกคนสามารถทำได้ที่ส่งผลดีที่สุดคือการหยุดบริโภคผลิตภัณฑ์จากสัตว์ และหันมาเพลิดเพลินกับอาหารอร่อยหลากหลายจากพืชแทน
Comments