เราต้องหันมาบริโภคพืชมากกว่าเดิม เพื่อให้มีอาหารพอสำหรับคนกว่าหมื่นล้านคนทั่วโลก
ผู้เชี่ยวชาญจากคณะกรรมการ EAT-Lancet หนึ่งในหน่วยงานทางวิทยาศาสตร์ที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดในโลกได้เผยแพร่รายงานฉบับหนึ่งซึ่งสรุปว่า หลักอาหารที่สอดคล้องกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและเป้าหมายทางโภชนาการจะประกอบด้วยอาหารจากพืชเป็นหลัก (มากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์) ซึ่งมีความยั่งยืนกว่า
ข้อความตอนหนึ่งในรายงานระบุว่า “การบริโภคผลไม้ ผัก เมล็ดพืช และพืชตระกูลถั่วควรเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าทั่วโลก และการบริโภคอาหาร เช่น เนื้อแดงและน้ำตาลควรลดลงมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์” โดยเน้นว่าอาหารเป็นปัจจัยที่ทรงพลังมากที่สุดเพื่อสุขภาพที่ดีและความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมบนโลก
รายงานเผยว่า หากเรารับประทานอาหารประเภทธัญพืชเต็มเมล็ด (ธัญพืชที่ไม่ได้ผ่านการขัดสี) พืชตระกูลถั่ว และผักเป็นหลัก เราจะไม่เพียงแต่ได้รับแคลลอรี่เพียงพอเท่านั้น แต่เรายังจะปกป้องสุขภาพของเราและของโลกอีกด้วย
ภูมิภาคต่างๆ เช่น ตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือกำลังจะบรรลุเป้าหมายการบริโภคผัก กลุ่มประเทศลาตินอเมริกาและเขตทะเลแคริบเบียนบริโภคผลไม้และธัญพืชเต็มเมล็ดในปริมาณที่เพียงพอ และเอเชียใต้มีอาหารที่อุดมไปด้วยพืชตระกูลถั่ว ในขณะเดียวกัน ชาวอเมริกาเหนือยังคงมีการบริโภคเนื้อแดงและนมในปริมาณที่สูงมาก โดยการศึกษาพบว่าเป็นสองในพฤติกรรมการบริโภคที่ไม่ยั่งยืนที่สุด
ช่องว่างที่ยากจะปิด
การคาดการณ์เผยว่า ภายในปี 2050 ประชากรโลกจะสูงถึงหนึ่งหมื่นล้านคน เพิ่มขึ้น 3 พันล้านคนเมื่อเทียบกับตัวเลขในปี 2010 ซึ่งมาพร้อมกับความท้าทายครั้งใหญ่ ได้แก่ การผลิตอาหารให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น การรับมือกับภัยคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการหลีกเลี่ยงการขยายตัวของการเกษตรไปยังพื้นที่ป่า
เพื่อตอบสนองความต้องการอาหารในอนาคต เรามีช่องว่างที่ต้องเติมเต็มให้ได้ ก็คือ การผลิตอาหารตามกิโลแคลอรีต้องเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 56 เปอร์เซ็นต์ และหากเรายังคงใช้หลักการบริโภคแบบปัจจุบัน ซึ่งพึ่งพาโปรตีนจากสัตว์อย่างมาก เราจะต้องมีพื้นที่ 3,706.25 ล้านไร่ (ใหญ่กว่าประเทศอินเดียเกือบสองเท่า) ระหว่างพื้นที่เกษตรกรรมของโลกในปี 2010 และการขยายตัวทางการเกษตรที่คาดการณ์ไว้ในปี 2050
ปัจจุบัน พื้นที่เกษตรกรรมเกือบ 80 เปอร์เซ็นต์ ถูกใช้เพื่อการเกษตรกรรมของสัตว์ (เนื้อสัตว์ การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ไข่ และนม) แม้ว่าผลิตภัณฑ์เหล่านี้จะให้โปรตีนเพียง 37 เปอร์เซ็นต์ และแคลอรีน้อยกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ของการบริโภคทั่วโลก ในขณะเดียวกัน อุตสาหกรรมนี้มีส่วนรับผิดชอบต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณ 56 ถึง 58 เปอร์เซ็นต์ของการผลิตอาหารทั้งหมด
สถาณการณ์ปัจจุบันนี้ไม่สอดคล้องกับเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Green house gases) และการรักษาอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มมากกว่า 2 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นระดับที่จำเป็นเพื่อหลีกเลี่ยงเหตุการณ์สภาพอากาศที่เลวร้ายที่สุด รายงานล่าสุดของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ได้เตือนว่าหากไม่มีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างมีนัยสำคัญในทันที การจำกัดการเพิ่มอุณหภูมิโลกจะเป็นไปไม่ได้ การศึกษาอื่นยังได้เผยอีกว่า การล้มเหลวในการจำกัดอุณหภูมิอาจคุกคามหนึ่งในสามของการผลิตอาหารทั่วโลก
ประสิทธิภาพคือกุญแจสำคัญ
ระบบอาหารปัจจุบันของเราส่งผลให้เกิดการขยายพื้นที่เกษตรกรรมและการตัดไม้ทำลายป่า ซึ่งไม่เพียงแต่ทำลายโลกของเราเท่านั้น แต่ยังล้มเหลวในหน้าที่หลัก นั่นก็คือการเลี้ยงประชากรโลก ปริมาณอาหารที่เราเก็บเกี่ยวในวันนี้เพียงพอแล้วเพื่อเลี้ยงคนอย่างน้อย 10 พันล้านคน แต่ส่วนใหญ่กลับสูญเสียไปในระบบที่ไม่มีประสิทธิภาพ
การสูญเสียอาหาร หรือ ขยะอาหาร เกิดขึ้นก่อนที่อาหารจะมาอยู่บนจานเราเสียอีก เมื่อเราใช้พืชผลเพื่อเลี้ยงสัตว์แทนที่จะเป็นอาหารคน เราต้องใช้ธัญพืชถึง 7 กิโลกรัม เพื่อผลิตเนื้อวัวเพียง 1 กิโลกรัม และเพื่อผลิตเนื้อหมูเพียง 1 กิโลกรัม เราต้องใช้ธัญพืชถึง 4 กิโลกรัม ทุกๆ 100 แคลอรีของธัญพืชที่เราใช้เลี้ยงสัตว์ แทนเป็นนมได้เพียง 40 แคลอรี ไข่ 22 แคลอรี หรือ 12 แคลอรีของไก่ 10 แคลอรีของเนื้อหมู และ 3 แคลอรีของเนื้อวัว
หากเราเปลี่ยนธัญพืชที่ใช้เลี้ยงสัตว์เป็นอาหารมนุษย์แทน และงดการบริโภคเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์นมวัว การใช้พื้นที่การเกษตรทั่วโลกอาจลดลงถึง 75 เปอร์เซ็นต์ และยังคงผลิตอาหารให้แก่ผู้คนมากกว่าระบบอาหารปัจจุบัน
คุณกังวลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเข้าถึงอาหารอย่างเท่าเทียมไหมคะ คุณสามารถทำในส่วนของคุณได้โดยการเปลี่ยนไปรับประทานอาหารจากพืชหรืออาหารแพลนต์เบส โครงการ ท้าลอง 22 วันเป็นโอกาสดีที่คุณจะได้รับคำแนะนำจากนักกำหนดอาหาร สูตรอาหารต่างๆ และพบปะกับผู้คนอื่นๆ ที่จะร่วมเดินทางไปกับคุณ โครงการฟรีไม่มีค่าใช้จ่ายค่ะ
Commentaires