top of page

9 ความจริงน่าวิตกจากภาพยนตร์สารคดี “Seaspiracy”

ภาพยนตร์ภาพยนตร์สารคดี “Seaspiracy” ออกฉายทางช่องเน็ทฟลิกซ์ ตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมาเป็นสัญญาณส่งมาเตือนคนที่ยังคิดว่ากินปลาดีต่อสุขภาพ ถูกต้องตามหลักจริยธรรม หรือยั่งยืน ภาพชวนฝันที่มักแสดงให้เห็นมักเป็นภาพชาวประมงพื้นบ้านออกเรือประมงลำเล็กๆ ไปจับปลาในทะเลแถบที่ตนเองอาศัยอยู่ ภาพแบบนี้ถูกใช้เป็นกลยุทธทางการตลาดอยู่บ่อยๆ เป็นภาพฝันพรรณาที่ช่างผิดจากความเป็นจริงในอุตสาหกรรมประมงเสียเหลือเกิน


ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้ได้แก่ คิป แอนเดอร์สัน เคยสร้างภาพยนตร์สารคดีก่อนหน้าสองเรื่อง ได้แก่ Cowspiracy และ What The Health เรื่องนี้คิปร่วมมือกับ อาลีและลูซี่ ทาบริซี่ ผลิตภาพยนตร์สารคดีที่เรียกได้ว่าสั่นสะเทือนวงการด้วยการเปิดโปงความลับอันโสมมที่อุตสาหกรรมประมงพยายามปกปิดจากผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นเรื่องมลพิษขยะพลาสติก การจับสัตว์น้ำเกินขนาด ผลกระทบด้านความหลากหลายทางชีวภาพ และภัยคุกคามต่อการมีอยู่ของมนุษย์ และสิ่งต่อไปนี้คือ ความจริงน่าวิตก 9 ประการที่ภาพยนตร์สารคดีนี้เปิดโปง


1. อาหารทะเลที่ผ่านการผลิตแบบยั่งยืนเป็นเพียงเรื่องเล่าต่อๆ กันมา

ทาบริซี่บรรยายในภาพยนตร์ภาพยนตร์สารคดีนี้ว่า “การประมงเชิงพาณิชย์ก็เหมือนการลักลอบล่าสัตว์ป่า แต่ล่าสัตว์จำนวนมหาศาล” ภาพยนตร์สารคดีประมาณการว่า ทุกหนึ่งนาที จะมีปลาจำนวน 5 ล้านตัวในโลกถูกฆ่าตาย แทบไม่ต้องสงสัยเลยว่า ไม่มีอุตสาหกรรมอื่นใดในโลกที่ฆ่าสัตว์ได้จำนวนมากไปกว่านี้

“ฉันพยายามหาข้อมูลอย่างจริงจังอยู่นาน ว่าจะมีตัวอย่างอื่นๆ จากที่ไหนไหม ที่การล่าสัตว์ป่าจำนวนมหาศาลจะเป็นไปยั่งยืน เรื่องแบบนี้มันไม่มีหรอก” ซิลเวีย เอิร์ล นักสำรวจและนักชีววิทยาทางทะเลผู้มีชื่อเสียงกล่าว


2. การทำฟาร์มเลี้ยงปลามีแต่แย่กับแย่

ปลาประเภทกินเนื้อที่เลี้ยงในฟาร์ม ก็ต้องกินปลาที่จับได้ตามธรรมชาติเป็นอาหาร ภาพยนตร์สารคดีเน้นประเด็นว่า การผลิตปลาแซลมอนให้ได้น้ำหนัก 1 กิโลกรัม ก็ต้องไปจับปลาอื่นๆ ให้ได้น้ำหนัก 1.2 กิโลกรัมมาเพื่อเป็นอาหาร หรือก็คือ ต้องไปพรากชีวิตของปลาจำนวนมหาศาลมาสังเวย จะพูดอีกอย่างก็ได้ว่า เวลาเราสั่งปลาแซลมอนกินที่ภัตตาคาร จึงไม่ใช่แค่เรื่องว่าเราอยากได้ปลาหนึ่งตัว แต่มันคือจำนวนปลามากมายมหาศาลต่างหาก


3. อุตสาหกรรมหูฉลามกำลังพาให้ปลาฉลามจำนวนมากต้องสูญพันธุ์

ภาพยนตร์สารคดีกล่าวถึงปลาฉลามหลากหลายสายพันธุ์ อย่างฉลามหางยาว ฉลามหัวบาตร ฉลามหัวค้อนดำ และ ฉลามหัวค้อนหยัก ว่าจำนวนประชากรปลาฉลามเหล่านี้ลดลงถึงร้อยละ 80 ถึง ร้อยละ 90 ในเวลาไม่กี่สิบปี การสูญพันธุ์นี้ยังนำไปสู่การสูญพันธุ์ของสายพันธุ์อื่นๆ อย่างนกทะเลด้วย เรื่องเช่นนี้เกิดขึ้นเพราะฉลามเป็นนักล่าสำคัญ ช่วยรักษาสมดุลของระบบนิเวศทางทะเลทั้งระบบ ทุกๆ หนึ่งชั่วโมง มีปลาฉลามจำนวน 11,000 ถึง 30,000 ชีวิตถูกฆ่าตายโดยน้ำมือมนุษย์ ซึ่งเป็นจำนวนเกือบครึ่งหนึ่งของสัตว์น้ำพลอยจับได้ หรือสัตว์น้ำที่ติดแหมากับการประมงด้วย แม้ไม่ได้ตั้งใจจับขึ้นมา ซึ่งเวลาจับปลาพวกนี้มาได้แล้ว ก็ต้องโยนทิ้งกลับลงไปในทะเล


4. การจับสัตว์น้ำพลอยได้เป็นอันตรายต่อสัตว์ทะเลมากกว่าการล่าโลมาในเมืองไทจิ ประเทศญี่ปุ่น

ผู้กำกับภาพยนตร์ภาพยนตร์สารคดีได้ประจักษ์กับสายตาตนเอง กับประเพณีอันโหดร้ายที่เมืองไทจิ ประเทศญี่ปุ่น ประเพณีที่ว่าคือการที่เรือหลายต่อหลายลำมาร่วมกันต้อนโลมาและวาฬตัวเล็กๆ มารวมกันในอ่าว และก็สังหารสัตว์น้ำเหล่านั้นด้วยการเชือดคอ


นอกจากการวิธีปฏิบัติต่อปลาที่สร้างความสะพรึงใจให้ผู้ชม ภาพยนตร์สารคดียังเน้นเรื่องว่าอุตสาหกรรมประมงทำให้โลมาต้องตายไปมากต่อมาก และการตายเป็นผลข้างเคียงจากการประมงเชิงพาณิชย์ กล่าวคือ สัตว์น้ำที่จับมาโดยไม่ตั้งใจนับเป็นร้อยละ 40 ของสัตว์ทะเลทั้งหมด และสัตว์ที่ถูกจับมาโดยไม่ตั้งใจนี้ ก็จะถูกโยนทิ้งกลับลงทะเล และตายไป


ส่วนในเมืองไทจิ ในหนึ่งปี จะมีโลมาไม่ถึง 1,000 ตัวต้องตายไป ข้อมูลโดยองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรซี เชพเพิร์ด กล่าวว่า ในปีหนึ่งๆ แถบชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกในประเทศฝรั่งเศสเพียงที่เดียว ก็มีโลมาถูกฆ่าตายถึง 10,000 ชีวิต และเป็นโลมาที่ถูกจับมาโดยไม่ตั้งใจทั้งสิ้น


5. พลาสติกเป็นผู้ร้ายก็จริง แต่ไม่ใช่หลอดดูดน้ำพลาสติก

ภาพยนตร์สารคดีมีข้อมูลว่า เศษซากแหอวนที่ทิ้งแล้ว คิดเป็นจำนวนร้อยละ 46 ของแพขยะใหญ่แถบชายฝั่งทะเลแปซิฟิค ในขณะที่หลอดดูดน้ำพลาสติก ที่มักถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ร้าย มีจำนวนเพียงร้อยละ 0.03 ของมลพิษขยะพลาสติกในมหาสมุทร


ผลที่ตามก็คือ ในปีหนึ่งๆ จะมีเต่าทะเล 1,000 ชีวิตต้องตายเพราะขยะพลาสติก ถ้านับในประเทศสหรัฐอเมริกาเพียงประเทศเดียว ในช่วงเวลาเดียวกัน จะมีเต่าทะเล 250,000 ตัวถูกจับ ทำร้าย หรือฆ่าตายโดยอุปกรณ์จับปลา “ตอนนี้ คงกล่าวได้ว่าเราต้องใช้พลาสติกกันให้น้อยลง แต่ถึงแม้ว่าจากวันนี้ไปจะไม่มีพลาสติกสักกรัมเดียวจากผู้บริโภคปล่อยลงสู่ทะเล เราก็ยังทำลายล้างระบบนิเวศอยู่ดี เพราะประเด็นที่ใหญ่ที่สุดตอนนี้คือการประมงเชิงพาณิชย์” จอร์จ มอนเบียตนักสิ่งแวดล้อมและผู้สื่อข่าวกล่าว


6. อุตสาหกรรมประมงฆ่าสัตว์ในหนึ่งวัน มากกว่าการรั่วไหลของน้ำมันดิบจากแท่นขุดเจาะน้ำมัน “ดีพวอเตอร์ ฮอไรซัน” ในอ่าวเม็กซิโกตลอดช่วงเวลาหลายเดือน

ศาสตราจารย์แคลลัม รอเบิร์ตส์ จากหมายวิทยาลัยยอร์ค นักวิทยาศาสตร์ทางทะเลนำเสนอภาพการเปรียบเทียบนี้ ศาสตราจารย์รอเบิร์ตส์ยังกล่าวอีกด้วยว่า จริงๆ แล้วการรั่วไหลของน้ำมันดิบช่วยสิ่งแวดล้อมอยู่บ้างเล็กน้อย เพราะมันทำให้มีการใช้ข้อบังคับเรื่องการประมงในบริเวณแถบนั้น เหตุเพราะเกิดความเสี่ยงเรื่องการปนเปื้อนเมื่อน้ำมันเกิดการรั่วไหล


7. การทำประมงก็เหมือนกับ “การตัดไม้ทำลายป่า” ที่พื้นมหาสมุทร

ภาพยนตร์สารคดีอธิบายถึงเทคนิคการประมงหนึ่งซึ่งน่าใจหายไม่น้อย เรียกว่า “การลากอวน” คือการใช้อวนขนาดยักษ์ ใหญ่พอจะล้อมมหาวิหารหรือเครื่องบินเจ็ทไว้ได้ถึง 13 ลำ อวนจะถูกโยนลงไปที่พื้นมหาสมุทร “ทิ้งรอยแผลเป็นไว้ที่พื้นทะเล และพื้นที่รกร้างไว้เบื้องหลัง” การกระทำนี้เปรียบได้กับการตัดไม้ทำลายป่า เพียงแค่เกิดขึ้นในระดับที่รุนแรงกว่า ถ้าจะเปรียบ การตัดไม้ทำลายป่าบนพื้นดินจะเทียบขนาดพท้นที่ได้เท่าสนามฟุตบอลจำนวน 27 สนาม การลากอวนจากพื้นมหาสมุทรคือการทำลายล้างบนพื้นที่ขนาดเท่าสนามฟุตบอลประมาณ 4,316 สนาม ในระยะเวลาที่เท่ากัน


8. ไม่มีการต่อสู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเกิดขึ้นจริง ตราบใดที่ยังมีปลาในจานอาหาร

พืชทะเลสามารถดูดซับคาร์บอนในหนึ่งเอเคอร์ได้มากกว่าป่าบนดินถึง 20 เท่า จำนวนคาร์บอนไดออกไซด์ร้อยละ 93 ของจำนวนคาร์บอนไดออกไซด์ในโลกถูกกักเก็บไว้ในทะเล โดยพืชทะเล สาหร่าย และปะการัง การสูญเสียระบบนิเวศไปเพียงร้อยละ 1 ก็เท่ากับรถยนต์ 97 คันปล่อยไอเสียออกมา ด้วยเหตุนี้นาวาเอกพอล วัทสัน ผู้ก่อนตั้งองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรซี เชพเพิร์ดจึงกล่าวไว้ว่า "ถ้าอยากนำเสนอเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สิ่งหนึ่งที่เราต้องทำคือปกป้องท้องทะเล และการแก้ปัญหาทำได้ด้วยวิธีที่ธรรมดาที่สุดคือ เลิกยุ่งกับทะเล”


9. ปลารู้สึกเจ็บปวดเป็น

“สำหรับฉันแล้วมันน่าประหลาดใจที่ยังมีคนถามคำถามแบบนี้อยู่อีก (คำถามว่าปลารู้สึกเจ็บปวดหรือเปล่า) ในฐานะที่เป็นนักวิทยาศาสตร์ มันเป็นเรื่องสามัญสำนึก ปลามีระบบประสาท มีส่วนประกอบพื้นฐานที่สัตว์มีกระดูกสันหลังพึงมี ปลามีความสามารถจะรู้สึกเจ็บปวดในระดับที่ฉับจินตนาการไม่ได้ว่าเราจะไม่มี คนที่ชอบพูดว่า ‘เราจะทำอะไรกับปลาก็ได้ มันไม่เป็นไรหรอก มันไม่เจ็บไม่ปวด’ หรือไม่ก็ ถ้าเป็นเรื่องจิตสำนึก ปลามันเชื่อมโยงกับความเจ็บปวดไม่ได้ หรือมันรู้สึกถึงอันตรายที่ใกล้เข้ามาไม่เป็น คนที่พูดแบบนี้ไม่เคยสังเกตปลาอย่างจริงจัง ฉันว่ามันเป็นการสร้างความชอบธรรมให้การกระทำคนขี้ขลาดตาขาวที่ทำต่อสัตว์โลกที่ไร้เดียงสา” ซิลเวีย เอิร์ล ผู้เป็นตำนานอธิบายไว้


ปลาเป็นสัตว์ที่มีชีวิตทางสังคมซับซ้อน มักร่วมมือกับสัตว์สายพันธุ์อื่นเพื่อหาอาหาร และจดจำสิ่งต่างๆ ได้“ปลามีตัวรับความรู้สึกเจ็บปวดแบบเดียวกับที่มนุษย์มีทั้งสามแบบ ทั้งรับรู้ผ่านทางร่างกาย ผ่านทางเคมี และผ่านความร้อน มีหลักฐานว่าปลาแสดงความอยากรู้อยากเห็น บางทีก็แสดงความเป็นห่วง และความกลัว และยังมีกลยุทธในการสื่อสาร” โจนาธาน บัลคอมบี นักชีววิทยาอธิบาย

ทางที่ดีที่สุดที่จะไว้ชีวิตสัตว์ทะเลและรับประกับอนาคตของทะเลก็คือ อย่านำปลามาทำเป็นอาหาร ดาวน์โหลดอีบุ๊ครวม15 สูตรอาหารวีแกนกลิ่นอายทะเล พร้อมเทคนิคการปรุงให้อร่อย ได้ที่นี่

Comments


bottom of page