ภาพวิดีโอสุดช็อกจากอินโดนีเซีย ทุบสุนัขจนตาย!
ภาพวีดีโอจากโรงเชือดแห่งหนึ่งในสุราการ์ตา เมืองจากตอนกลางเกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย แสดงภาพสุนัขถูกทุบ หลังจากนั้นถูกเอาไปแขวนห้อยหัวให้เลือดไหลจนตายในขณะที่ยังมีสติรับรู้ทุกอย่าง สุนัขตัวอื่นๆ ที่ “รอคิวเชือด” ยืนมองด้วยความหวาดผวา
ดูวิดีโอการสืบสวนฉบับเต็มได้ที่นี่:
นี่คงเป็นภาพที่คนรักสัตว์ไม่อยากจะนึกถึง ใครก็ตามที่เป็นเจ้าของสุนัขก็คงจะรู้กันดีอยู่แล้วว่าพวกเขาเป็นสัตว์ที่ฉลาดแสนรู้ขนาดไหน คงนึกภาพออกว่าพวกเขาจะรู้สึกอย่างไรหากต้องอยู่ในสถานการณ์เช่นนี้
สุนัขส่วนใหญ่ถูกลักพาตัวมาจากตามถนน หรือเป็นสุนัขมีเจ้าของที่ถูกขโมยมาจากบ้าน หลังจากนั้นพวกเขาจะถูกจับยัดไว้ในกรงแคบๆ ใบละหลายๆ ตัวจนแทบขยับตัวไม่ได้เพื่อขนส่งไปยังโรงเชือด การขนส่งอาจกินเวลาหลายวันหรือเป็นสัปดาห์ พวกเขาจะถูกมัดปากจนแน่นจนถึงขนาดหายใจไม่ได้เพื่อไม่ให้สุนัขเห่าเสียงดังหรือกัดเพื่อนสุนัขตัวอื่นๆ ที่ถูกจับยัดอยู่ในกรงใบเดียวกัน ขนาดสุนัขแม่ลูกอ่อนก็ยังไม่ได้รับการละเว้น
ภาพวีดีโอนี้มาจาก Dog Meat-Free Indonesia (DMFI) การรวมตัวกันของหลากองค์กรพิทักษ์สัตว์ในอินโดนีเซียเพื่อรณรงค์ยุติการบริโภคเนื้อสุนัข
ในแต่ละเดือน สุนัขกว่า 13,000 ตัวถูกฆ่าในสุราการ์ตา ตามความต้องการเนื้อสุนัขที่ยังคงสูงขึ้น มีร้านค้ากว่า 82 ร้านที่ออกตัวว่ามีเนื้อสุนัขจำหน่ายในเมนู
รายงานจาก Dog Meat Free Indonesia ชื่อแคมเปญรณรงค์เพื่อยุติการซื้อขายเนื้อสุนัขซึ่งนำโดยองค์กร Jakarta Animal Aid Network Animal Friends Jogja และองค์กรพิทักษ์สัตว์อื่นๆ ในอินโดนีเซีย ระบุว่า “ มีประชากรในอินโดนีเซียเพียง 7 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่เคยบริโภคเนื้อสุนัข แต่การซื้อขายและบริโภคเนื้อสุนัขเป็นภัยต่อสุขภาพของประชากรทั้งประเทศ”
วิถีการบริโภคที่กำลังเปลี่ยนแปลง
ความโหดร้ายทารุณที่สุนัขต้องเผชิญไม่ต่างอะไรกับความโหดร้ายทารุณที่สัตว์ประเภทอื่นๆ เช่น หมู วัว ไก่ และปลาต้องเผชิญอยู่ทุกวันในอุตสาหกรรมการผลิตอาหาร ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ชนิดใด ก็ล้วนแล้วแต่แต่มีสติปัญญา และมีความรู้สึก และรับรู้ความเจ็บปวดได้ไม่ต่างไปจากสุนัข
ภาพแบบนี้ก็จะเกิดต่อไปเรื่อยๆ เป็นระยะเวลาอีกหลายสิบปี หากพวกเรายังไม่ทบทวนพฤติกรรมการบริโภคของตนเอง จริงๆ แล้วพฤติกรรมการบริโภคของเราเป็นเพียงการประกอบสร้างของสังคมและวัฒนธรรม และวัฒนธรรมของเราก็ไม่ได้หยุดนิ่ง แต่เป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน เขตการันกันยาร์ เขตหนึ่งในสุราการ์ตา ได้ประกาศว่าจะปิดแผงขายเนื้อสุนัขทั้งหมด ซึ่งถือเป็นเขตแรกในประเทศที่ห้ามการขายเนื้อสุนัข ส่งผลให้มีสุนัขถูกฆ่าลดลงกว่า 1,900 ตัว ต่อเดือน และถือเป็นแบบอย่างให้แก่เขตอื่นๆ และนี่คือหนึ่งในหลายๆ ตัวอย่างที่พิสูจน์ให้เห็นว่าพฤติกรรมการบริโภคของคนเราเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ
ความเปลี่ยนแปลงอื่นๆ ที่กำลังเป็นกระแสในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา คือการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคของคนจำนวนมาก คนหลายล้านทั่วโลกได้ตระหนักถึงความโหดร้ายทารุณในอุตสาหกรรมปศุสัตว์ และปฏิเสธการบริโภคผลิตภัณฑ์ที่มาจากสัตว์ทุกชนิด
เป็นข้อพิสูจน์ว่าเป็นไปได้ที่คนเราจะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม หากได้รับข้อมูลใหม่ๆ หนึ่งในข้อมูลเหล่านั้นก็คือความจริงที่ว่า สัตว์มีสิทธิ์และมีความปราถนาที่จะมีชีวิตอยู่ไม่ต่างไปจากเรา แล้วนอกจากนี้การผลิตเนื้อสัตว์ก็ยังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรงจนอาจถึงจุดที่แก้ไขไม่ทัน
การช่วยสัตว์ที่ดีที่สุดคือการไม่นำสัตว์หรือผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ได้แก่เนื้อ นม ไข่ อาหารทะเล และสัตว์น้ำต่างๆ มาวางบนจานของเรา นอกจากจะได้ช่วยสัตว์แล้วยังได้ช่วยโลกอีกด้วย