top of page

ซิเนอร์เจีย แอนนิมอล จัดนิทรรศการภาพถ่าย ‘ชีวิตในกรง’ เผยความจริงเบื้องหลังอุตสาหกรรมไข่ไก่ 37 ประเทศทั่วโลก

  • Writer: Chisakan Ariphipat
    Chisakan Ariphipat
  • 5 hours ago
  • 1 min read
People walk past animal rights banners at an outdoor event. City skyline visible, with text in Thai and logos of Sinergia Animal, Open Wing Alliance.

ซิเนอร์เจีย แอนนิมอล (Sinergia Animal) องค์กรพิทักษ์สัตว์ระดับสากล ได้จัดงานนิทรรศการภาพถ่ายขนาดใหญ่ระดับโลก ถ่ายทอดภาพ ‘ชีวิตจริงอันโหดร้ายของแม่ไก่ในฟาร์มอุตสาหกรรม’ จาก 37 ประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย เพื่อกระตุ้นให้สังคมตั้งคำถามกับความจริงที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังไข่ไก่ในทุกจานอาหาร ณ ลานกิจกรรมชั้น 2 ท่ามหาราช เมื่อวันที่ 28 มิถุนายนที่ผ่านมา

 

นิทรรศการประกอบด้วยภาพถ่ายขนาดใหญ่สูง 2 เมตร จำนวน 37 ชิ้น จัดแสดงเป็นแนวโถงทางเดิน ให้ผู้ชมได้สัมผัสประสบการณ์เสมือนกำลังเดินผ่านโรงเรือนจริงของฟาร์มไข่ ซึ่งจะกระตุ้นให้เกิดคำถามถึงที่มาของไข่ และผลกระทบทางจริยธรรมที่เกี่ยวข้อง

 

ศนีกานต์ รศมนตรี ผู้อำนวยการ ซิเนอร์เจีย แอนนิมอล ประเทศไทย กล่าวว่า “นิทรรศการนี้ เป็นหนึ่งในงานที่สามารถถ่ายทอดความทุกข์ของแม่ไก่ในระบบอุตสาหกรรมได้อย่างครบถ้วน ความจริงอันน่าสะเทือนใจนี้เป็นสิ่งที่สังคมจำเป็นต้องรู้และไม่ควรถูกปกปิดอีกต่อไป และเป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่าถึงเวลาแล้วที่ภาคธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร โรงแรม ซูเปอร์มาร์เก็ต หรือแบรนด์อาหารแปรรูปที่ใช้ไข่เป็นส่วนประกอบ ต้องแสดงความรับผิดชอบในการเลือกแหล่งวัตถุดิบอย่างมีจริยธรรมและปฏิบัติต่อสัตว์ด้วยความเมตตา”

 

เอเชีย: จุดศูนย์กลางแห่งความเจ็บปวดของแม่ไก่ในอุตสาหกรรมไข่

 

เอเชียเป็นภูมิภาคที่มีผู้ผลิตไข่รายใหญ่ที่สุดของโลก โดยมีแม่ไก่ในระบบอุตสาหกรรมถึง 63% หรือมากกว่า 3 พันล้านตัว โดยเฉพาะในประเทศไทย มีแม่ไก่มากถึง 94.8 ล้านตัวที่ส่วนใหญ่ต้องใช้ชีวิตทั้งชีวิตในกรงแคบ ไม่สามารถเดินหรือกางปีกได้อย่างเป็นธรรมชาติ ซึ่งถือเป็นรูปแบบการเลี้ยงสัตว์ที่โหดร้ายที่สุดในปัจจุบัน

 

การจัดงานนิทรรศการในครั้งนี้เกิดขึ้นท่ามกลางสถานการณ์โรคไข้หวัดนกที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นในภูมิภาคเอเชีย โดยบางสายพันธุ์สามารถแพร่เชื้อจากสัตว์สู่คนได้ ซึ่งตอกย้ำถึงบทบาทของฟาร์มอุตสาหกรรมในฐานะแหล่งกำเนิดโรคติดต่อระหว่างสัตว์สู่คน (Zoonotic Diseases) และสะท้อนถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการเลิกใช้ระบบกรงในอุตสาหกรรมไข่

 

Two people hold yellow Sinergia Animal signs at a protest. Background shows posters with cages and chickens, creating an advocacy mood.

 

เปิดประสบการณ์ สู่ความจริงที่ไม่ควรถูกซ่อน

 

ช่วงท้ายของนิทรรศการยังมีการจัดฉายวิดีโอสั้น ถ่ายทอดภาพชีวิตจริงในฟาร์มไข่ พร้อมเชิญชวนให้ผู้ชมร่วมลงชื่อสนับสนุนการยุติการใช้ระบบกรง และแสดงจุดยืนผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อขยายกระแสการเปลี่ยนแปลงในวงกว้าง

 

“รู้สึกตกใจกับภาพที่เห็นจากแต่ละประเทศมากค่ะ เห็นสภาพของแม่ไก่แล้วหดหู่มาก ทำให้ตระหนักว่าไข่ที่เรากินทุกวันมีที่มาอย่างไร ระบบการเลี้ยงไก่เบื้องหลังมันโหดร้ายกว่าที่คิด จากนี้ไปคงต้องใส่ใจและเลือกมากขึ้นก่อนจะซื้อไข่แต่ละฟอง เพื่อช่วยให้สัตว์มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ผ่านการเลือกของเราค่ะ”  เสียงสะท้อนจาก สภาพร ประดิษฐ์ ผู้ชมท่านหนึ่ง

 

นินทร์ นรินทรกุล ณ อยุธยา ผู้ชมอีกท่านหนึ่ง ระบุว่า “เมื่อได้เห็นภาพแม่ไก่ที่ดูทุกข์ทรมาน ก็อดคิดไม่ได้ว่าไข่ที่พวกเขาผลิตออกมาคงไม่ดีนัก และเมื่อเราบริโภคเข้าไป มันก็อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเราด้วยครับ”

 

นิทรรศการครั้งนี้รวบรวมภาพถ่ายจากเครือข่าย Open Wing Alliance  (OWA) ซึ่งประกอบด้วยองค์กรพิทักษ์สัตว์กว่า 90 แห่งทั่วโลก และเป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญระดับนานาชาติที่มุ่งยุติการใช้กรงในอุตสาหกรรมไข่ไก่ทั่วโลก

 

 

A person in a black shirt with "TRULY" text photographs posters featuring chickens. Another person in white observes. Exhibition setting.

ภาคธุรกิจไทย ถึงเวลาแสดงจุดยืน

 

แม้ว่าบริษัทมากกว่า 2,600 แห่งทั่วโลกได้ประกาศนโยบายเลิกใช้ไข่จากกรงแล้ว แต่ในประเทศไทย บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Inspire Brands (เจ้าของ Dunkin’ และ Baskin-Robbins) รวมถึงเครือโรงแรมชั้นนำอย่าง IHG, Chatrium และ Marriott แม้เคยแสดงเจตนารมณ์เรื่องนี้ แต่ยังไม่มีการเปิดเผยความคืบหน้าต่อสาธารณะอย่างชัดเจน

 

ศนีกานต์ กล่าวย้ำว่า “ภาคธุรกิจต้องแสดงความรับผิดชอบและรักษาคำมั่นที่ให้ไว้ เพราะทุกปีที่ผ่านไป เท่ากับมีแม่ไก่นับล้านตัวยังคงติดอยู่ในระบบที่โหดร้ายอย่างที่สุด ความเงียบไม่สามารถใช้แทนความรับผิดชอบได้อีกต่อไป เพราะนี่ไม่ใช่แค่เพียงประเด็นสวัสดิภาพสัตว์ แต่เป็นความรับผิดชอบต่อสังคมโดยรวมด้วยเช่นกัน”

เรียนรู้ข้อมูลเกี่ยวกับงานสืบสวนเพิ่มเติมได้ที่:

 
 
 

Comments


bottom of page