top of page

9 ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับการเป็นวีแกน

หากคุณเป็นวีแกนหรือเพิ่งเริ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรมล่ะก็ คุณคงต้องรับมือกับคำถามหลากหลายรูปแบบ การคาดเดาต่างๆ นานาๆ ความคิดแบบเหมารวมมากมายหลายข้อ และความเห็นแบบคิดไปเองที่คนอื่นๆ มีต่อวิถีชีวิตแบบนี้ ไม่หิวอยู่ตลอดเวลาเหรอ? ไม่รู้สึกไม่มีแรงเหรอ? กินสลัดทุกวันหรือเปล่า? มาทำความเข้าใจใหม่เกี่ยวกับวิถีชีวิตแบบวีแกนกันดีกว่า

ความเชื่อ#1: คนตั้งครรภ์ไม่ควรเป็นวีแกน

วีแกนหลายคนสงสัยว่าควรจะใช้ชีวิตแบบวีแกนต่อไปหรือไม่เมื่อได้ทราบว่าตนเองตั้งครรภ์ เพราะมีความเชื่อว่าอาหารวีแกนอาจไม่ดีต่อสุขภาพทารก ความจริงก็คือ คนตั้งครรภ์ทุกคนไม่ว่าจะกินอาหารแบบวีแกนหรืออาหารที่มีผลิตภัณฑ์จากสัตว์ด้วย ควรจะใส่ใจอาหารที่รับประทานระหว่างมีครรภ์ให้มากกว่าเดิมเป็นพิเศษอยู่แล้ว เพื่อให้ได้รับสารอาหารครบถ้วนในการส่งเสริมพัฒนาการของเด็ก

งานวิจัยชิ้นหนึ่งระบุว่า ถ้าหากวางแผนมาอย่างดีและสมดุล อาหารวีแกนก็เป็นอาหารที่ปลอดภัยสำหรับตัวอ่อนในครรภ์และการหลั่งน้ำนมได้ นอกจากนี้ การทบทวนงานวิจัยทั้งหมดเก้าฉบับที่ศึกษาผู้ตั้งครรภ์ที่เป็นวีแกนหรือมังสวิรัติก็ได้ข้อสรุปเหมือนอย่างที่กล่าวไป

ความเชื่อ #2: เด็กๆ ควรจะกินเนื้อด้วย ไม่งั้นจะสุขภาพไม่ดี

สำหรับผู้ปกครอง หลายคน การเลี้ยงลูกโดยให้กินแต่ผัก ธัญพืช ผลไม้ และถั่วต่างๆ เป็นไอเดียที่ไม่น่าพิสมัยสักเท่าไหร่ แต่ที่เป็นไปอย่างนั้นก็เพราะว่าการตลาดและการโฆษณาต่างหากที่ทำให้หลายๆ คนคิดไปว่าเนื้อแดงและนมวัวทำให้เด็กๆ เติบโตแข็งแรง และอีกสาเหตุก็คือ เด็กๆ หลาย คนอาจจะเคยชินกับการกินแต่ขนมหรืออาหารขยะ จนไม่ชอบกินผัก และอยากจะกินแต่ฮอตด็อก นักเก็ตและอาหารจำพวกนี้มากกว่า

เนื่องจากมีพ่อแม่กลายเป็นวีแกนมากขึ้น ลูกๆ จึงกินอาหารวีแกนตาม สมาคมนักกำหนดอาหารแห่งสหราชอาณาจักรกล่าวว่าผู้คนทุกวัยมีสุขภาพแข็งแรงได้แม้จะกินอาหารแบบแพลนต์เบส อาหารแบบแพลนต์เบสมีสารอาหารครบถ้วนสมบูรณ์ หากว่าวางแผนอย่างรอบคอบ โดยให้มีโปรตีน คาร์โบไฮเดรต และไขมันอย่างเพียงพอเพื่อให้ได้รับแคลอรีเพียงพอในการเจริญเติบโต นอกจากนี้การให้กินอาหารแบบวีแกนยังเป็นโอกาสสอนเด็กๆ เกี่ยวกับหลักการรับประทานอาหารที่มีสารอาหารครบถ้วนและดีต่อสุขภาพตั้งแต่อายุยังน้อย อีกทั้งอาหารแพลนต์เบสยังดีต่อสุขภาพและมีสารอาหารครบถ้วนได้เหมือนกัน

ความเชื่อ #3: การกินอาหารวีแกนทำให้ไม่มีเรี่ยวแรง

มีความเชื่อผิดๆ ว่าเนื้อสัตว์เท่านั้นที่เป็นแหล่งโปรตีน แต่จริงๆ แล้ว เต้าหู้ เทมเป้ ถั่วเปลือกแข็งและถั่วฝักต่างๆ เมล็ดพืช และธัญก็มีโปรตีนเหมือนกัน! ไม่ว่าจะเป็นนักฟุตบอล และนักยกน้ำหนักโอลิมปิก รวมถึงนักกีฬามีชื่อเสียงหลายคน ก็เริ่มหันมารับประทานอาหารแบบวีแกน เพราะพบว่าทำให้สมรรถนะในการเล่นกีฬาดีกว่าเดิม

วีนัส วิลเลียมส์ ให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร Health เกี่ยวกับการกินอาหารวีแกน

เมื่อปี 2017 ไว้ว่า “ชีวิตฉันเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง จังหวะชีวิตของฉันเปลี่ยนไป ทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตเปลี่ยนไป(...) การกินอาหารดีต่อสุขภาพมีอะไรบางอย่างที่ทำให้เรารู้สึกภาคภูมิใจ เหมือนได้ทำในสิ่งที่ถูกต้อง เมื่อเรากินอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ เราจะรู้สึกผิด เหมือนรู้ได้ว่าสักวันผลกระทบมันจะตามมา ฉันจึงชอบความรู้สึกเมื่อได้กินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ”

ความเชื่อ #4: วีแกนกินแต่อาหารเดิมๆ คือสลัดกับ "อาหารกระต่าย"

การรับประทานอาหารจากพืชไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องกินแต่สลัด ในทางกลับกัน วิธีชีวิตแบบวีแกนนี่เองที่เปิดโลกอาหารการกินของเราให้กว้างไกลขึ้น วีแกนจะได้กินอาหารที่ทำจากพืชหลากหลายชนิด เครื่องเทศ หลากรสชาติ และตำรับอาหารหลากหลาย ที่มาจากทั่วทุกมุมโลก ไม่ว่าจะเป็นซูชิ เทมเป้จากอินโดนีเซีย และอาหารตะวันออกกลางเช่นฮุมมุส

การเป็นวีแกนไม่ได้มีข้อจำกัดใดๆ เลย การเลิกกินอาหารที่มาจากสัตว์นั้นทำให้เรามีอาหารที่ดีต่อสุขภาพมากกว่าและอุดมสมบูรณ์กว่า

ความเชื่อ #5: อาหารวีแกนก็เป็นแค่กระแส ที่จะผ่านมาแล้วก็ผ่านไป

หลายๆ คนคิดว่าการเป็นวีแกนนั้นเป็นแค่กระแส และคนเป็นวีแกนก็แค่ "อยากเท่" แต่ในช่วงหลายๆ ปีที่ผ่านมานี้ร้านอาหารต่างๆ นิตยสารหลายฉบับ และเว็บไซต์เกี่ยวกับวิถีชีวิตแบบวีแกนเริ่มเพิ่มมากขึ้น และผู้คนก็เริ่มเรียนรู้ผลกระทบของอาหารที่ตัวเองเลือกกินต่อโลกและต่อสุขภาพของพวกเขาเอง

คนส่วนใหญ่ไม่ได้เกิดมาเป็นวีแกน แต่เลือกเองที่จะใช้ชีวิตแบบนี้ พวกเขาผันตัวมาเป็นวีแกนด้วยหลายๆ ปัจจัยด้วยกัน แต่สาเหตุหลักก็คือเพื่อดูแลสิ่งแวดล้อมและสัตว์ และเพื่อสุขภาพที่ดีกว่า เนื่องจากมีงานวิจัยที่พิสูจน์แล้วว่าผลิตภัณฑ์จากสัตว์เชื่อมโยงกับโรคต่างๆ เช่นเบาหวาน โรคหัวใจ โรคเส้นหลอดเลือดสมอง และมะเร็ง และนี่ก็เป็นเพียงแค่ตัวอย่างเท่านั้น

อีกทั้งจริงๆ แล้ว อาหารแบบแพลนต์เบสและวีแกนก็ไม่ใช่เรื่องใหม่เลย อารยธรรมโบราณหลายๆ อารยธรรมได้รับประทานอาหารวีแกนกันมาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว เช่นศาสนาฮินดู ศาสนาพุธ และเต๋า ก็ได้สนับสนุนอาหารจากพืชและการไม่ใช้ความรุนแรงเรื่อยมา เนื่องจากเหตุผลทางศีลธรรม

ความเชื่อ #6: มนุษย์เราจะได้รับโปรตีนและแคลเซียมได้จากผลิตภัณฑ์จากสัตว์เท่านั้น

โปรตีนจากสัตว์ก็มาจากพืช เพราะว่าอาหารของสัตว์เหล่านี้ก็คือผักหญ้าและธัญพืชต่างๆ แทนที่จะไปกินสัตว์เพื่อรับโปรตีนเหล่านั้น เราก็รับโปรตีนจากพืชโดยตรงได้เหมือนกัน เช่นถั่วเหลือง ถั่วเลนทิล ถั่วลูกไก่ และถั่วอื่นๆ อีกมากมายและหลักการเดียวกันนี้เองก็ใช้ได้กับแคลเซียมและธาตุเหล็ก

อีกอย่างก็คือนมจากสัตว์ไม่ได้ดีต่อสุขภาพอย่างที่ใครหลายๆ คนคิด งานวิจัยฉบับหนึ่งระบุว่า วัยรุ่นเพศชายที่ดื่มนมวัวมากมีโอกาสจะเป็นโรคกระดูกพรุนสูงขึ้นในวัยผู้ใหญ่ นอกจากนี้ ก็ยังมีงานวิจัยอีกฉบับที่ระบุว่าการบริโภคผลิตภัณฑ์จากนมวัว เชื่อมโยงโดยตรงกับมะเร็งต่อมลูกหมาก และ มะเร็งเต้านมทำให้ความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานสูงขึ้นและยังอาจทำให้อายุขัยสั้นลง เนื่องจากภาวะเครียดออกซิเดชั่น

ส่วนเรื่องแคลเซียมที่ได้จากอาหารนั้น งานวิจัยหลายฉบับจากโครงการความร่วมมือการวิจัยด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมระหว่างมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด-คอร์แนลในประเทศจีน(รู้จักกันในชื่อว่า The China Study หรือ งานวิจัยในเมืองจีน)ก็พบความเชื่อมโยงระหว่างมวลกระดูกและโรคกระดูกพรุนในผู้ที่กินเนื้อปริมาณมาก วีแกนได้รับแคลเซียลจากแหล่งที่ไม่ใช่นมวัวได้ เช่นถั่วเมล็ดแห้ง ผักใบเขียว เช่นบล็อกโคลีหรือคะน้า และน้ำเต้าหู้หรือน้ำผลไม้เติมแคลเซียม ตัวอย่างก้เช่น เครื่องดื่มจากถั่วเหลืองส่วนใหญ่นั้นมักจะมีแคลเซียม 120 มิลลิกรัมต่อเครื่องดื่ม 100 มิลลิลิคร ซึ่งก็ปริมาณพอ ๆ กับนมวัว

ความเชื่อ #7: อาหารวีแกนราคาแพง

การกินอาหารวีแกนไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องซื้อผลิตภัณฑ์แปรรูปเลียนแบบเนื้อสัตว์ ชีสวีแกน "ชั้นดี" ราคาแพง จากซูเปอร์มาเก็ตหรูๆ หากเราใช้ชีวิตแบบนี้ การเป็นวีแกนก็คงแพงอยู่

แต่ถ้าหากเราวางแผนอาหารของเราอย่างระมัดระวัง เราก็จะประหยัดเงินได้มาก กว่าเมื่อเทียบกับการกินอาหารที่มีเนื้อด้วย เพราะว่าผักและธัญพืชนั้นถูกกว่าเนื้อสัตว์มาก นอกจากนี้เราก็ยังหาซื้อผักผลไม้ตามฤดูกาลในตลาดสดแถวบ้าน นำมาประกอบอาหารต่างๆ หรือใส่ลงในสมูตตี้ ซื้อวัตถุดิบทีละมากๆ (โดยเฉพาะพวกอาหารแห้งต่างๆ เช่นข้าวสาร ถั่ว ธัญพืช) และทำอาหารเองที่บ้าน แทนที่จะซื้ออาหารแปรรูปหรือสั่งอาหารมากิน ถ้าทำแบบนี้ อาหารวีแกนจะไม่ใช่แค่ถูกกว่า แต่จะดีต่อสุขภาพมากกว่าด้วย!

ความเชื่อ #8: วีแกนมักจะขาดสารอาหารอะไรสักอย่าง

คนเราไม่ว่าจะกินอาหารแบบไหนก็อาจเผชิญภาวะขาดสารอาหารได้กันทั้งนั้น ไม่ใช่ว่าพอเป็นวีแกนแล้วก็จะต้องขาดสารอาหารไปโดยอัตโนมัติ

เป็นที่รู้กันทั่วไปว่าภาวะขาดวิตามิน B12 เป็นเรื่องที่เกิดบ่อยกับคนที่กินเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ และมันก็เกิดขึ้นกับวีแกนได้เหมือนกัน ถ้าหากไม่รับประทานวีตามินบี 12 เสริม เราจึงแนะนำให้บุคคลที่มีวีตามินบี 12 ในร่างกายต่ำทานวิตามินเสริมด้วย

ในทางกลับกันงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดระบุว่าวีแกนมีวิตามินบี 9 ในร่างกายสูงกว่าคนที่กินเนื้อสัตว์

นอกจากนี้ก็ยังมีคนชอบพูดว่าเป็นวีแกนแล้วจะได้รับโปรตีนไม่เพียงพอ แต่ความจริงแล้ว การได้รับโปรตีน แคลเซียม และธาตุเหล็กจากสัตว์มากเกินไปเป็นสาเหตุหลักในสูญเสียมวลกระดูก โรคนิ่ว และโรคไตวาย คนที่เป็นวีแกนมักจะกินเส้นใยอาหารมากกว่า ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการลดระดับน้ำตาลในอาหาร ป้องกันโรคเรื้อรังต่างๆ และอาจะช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งในลำไส้ และลดคอเลสเตอรอล

ความเชื่อ #9: กินวีแกนแล้วจะเหนื่อยและหิวอยู่ตลอดเวลา

แม้ผักและธัญพืชอาจจะดูไม่ค่อยอยู่ท้องเท่าไหร่ในความคิดของคนที่กินเนื้อสัตว์ แต่ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ระบุแล้วว่าผักประเภทแป้งเช่นมันฝรั่ง หัวมันอื่นๆ พืชตระกูลฟักต่างๆ หัวไขเท้า เลนทิล ข้าวโพด ช่วยทำให้เรารู้สึกอิ่มได้เร็วและนานขึ้น และยังทำให้สุขภาพลำไส้ดีขึ้น ช่วยลดความโหย และทำให้เรามีพลังงานได้ตลอดทั้งวัน ในทางกลับกัน หากกินอาหารที่ไม่สมดุล อาจทำให้เกิดภาวะขาดวิตามินบี 12 และธาตุเหล็ก และทำให้เกิดอาการอ่อนเพลีย ปวดหัว เวียนหัว โลหิตจาง

หากคุณมีข้อสงสัยที่ไม่รู้จะไปหาคำตอบได้จากไหนก็มาหาข้อมูลได้ที่นี่ เรามีบทความต่างๆ ซึ่งผ่านการค้นคว้ามาอย่างดี และนอกจากนี้ การกินอาหารแพลนต์เบสไม่แปรรูปก็ยังเป็นหนึ่งในหนทางที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดเพื่อเปลี่ยนแปลงโลกและผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่โลกที่เป็นธรรมมากขึ้น ยั่งยืนมากขึ้น ไม่ทำร้ายสัตว์หรือสิ่งแวดล้อม มาลองลด ละ เลิกผลิตภัณฑ์จากสัตว์ตั้งแต่วันนี้เลยดีกว่า! คลิกที่นี่เพื่อเริ่มต้นเปลี่ยนวิถีชีวิต

bottom of page