top of page

กินไข่สามฟองต่อสัปดาห์เพิ่มความเสี่ยงโรคหัวใจ


งานวิจัยฉบับใหม่ซึ่่งตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ของสมาคมการแพทย์อเมริกันระบุว่าการบริโภคไข่สามฟองต่อสัปดาห์เพิ่มความเสี่ยงโรคระบบหัวใจหลอดเลือด ไข่หนึ่งฟองมีคอเลสเตอรอล 180 มิลลิกรัม ทำให้ไข่เป็นแหล่งคอเลสเตอรอลหลักในอาหาร

งานวิจัยฉบับนี้ศึกษาผู้ใหญ่จำนวน 29,615 คนในสหรัฐอเมริกา โดยติดตามดูเป็นเวลา 18 ปี คอเลสเตอรอลทุกๆ 300 มิลลิกรัมที่บริโภคในหนึ่งวันทำให้ความเสี่ยงโรคระบบหัวใจหลอดเหลือดสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แล้วนี่ยังไม่พูดถึงผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่มีคอเลสเตอรอลเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื้อสัตว์

อย่าคิดเสียล่ะว่ามีแต่เนื้อแดงเท่านั้นที่อันตราย เมื่อไม่นานมานี้ เราได้รายงานเกี่ยวกับงานวิจัยอีกฉบับที่ระบุว่าไม่ว่าจะเป็นเนื้อแดงหรือเนื้อขาวก็เป็นอันตรายแต่ระดับคอเลสเตอรอลพอๆ กัน หากเปรียบเทียบกับอาหารที่มีแต่พืช

เมื่อมีผลการวิจัยเช่นนี้ นักวิทยาศาสตร์ก็เริ่มแนะนำให้จำกัดการบริโภคเนื้อเพื่อลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือด เพื่อสุขภาพที่ดีกว่าเราควรบริโภคพืชให้มากขึ้น โปรตีนที่มาจากพืชเช่นถั่ว และไขมันไม่อิ่มตัวจากถั่วเปลือกแข็งต่างๆ ทำให้หัวใจแข็งแรง

ไม่ใช่แค่คอเลสเตอรอล

ไข่โดยทั่วไปปนเปื้อนเชื้อแซลโมเนลลา ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียที่แพร่ไปทั่วโลกและอาจทำให้ถึงแก่ชีวิตได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเกิดในเด็ก ปัญหานี้ยิ่งรุนแรงหนักหากเป็นฟาร์มที่ขังไก่ไว้ในกรง ในฟาร์มลักษณะนี้ความเสี่ยงปนเปื้อนเชื้อแซลโมเนลลาสูงกว่าถึง 43 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับฟาร์มที่เลี้ยงไก่ไว้ในโรงเลี้ยงแบบปิด และสูงกว่าถึง 98 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับฟาร์มระบบเปิด ข้อมูลนี้ได้จากองค์กรความปลอดภัยด้านอาหารแห่งยุโรป

เพื่อป้องกันโรค อุตสาหกรรมไข่โดยมากมักใช้ยาปฏิชีวนะกับไก่อย่างต่อเนื่อง แม้แม่ไก่จะไม่ได้ป่วย

ข้อมูลจากองค์การสหประชาชาติระบุว่า อาการดื้อยาปฏิชีวนะเป็นหนึ่งในภัยคุกคามที่อันตรายที่สุดต่อสาธารณสุขโลก ความมั่นคงด้านอาหาร และการพัฒนาในโลกปัจจุบันนี้ การดื้อยาปฏิชีวนะเกิดจากการใช้ยาอย่างไร้ความรับผิดชอบทั้งในการรักษามนุษย์และในการปศุสัตว์

แม้จะไม่ได้มีการควบคุมการใช้ผลิตภัณฑ์ยาปฏิชีวนะอย่างเคร่งครัดในหลายๆ ประเทศ องค์การสหประชาชาติก็ยังประเมินได้ว่าในปี 2010 ภาคการปศุสัตว์เพียงอย่างเดียวใช้ยาปฏิชีวนะกว่า 63,151 ตัน ในบางประเทศ ยาปฏิชีวนะที่สำคัญทางการแพทย์กว่า 80 เปอร์เซ็นต์ใช้ในการปศุสัตว์ โดยมากใช้กับสัตว์ที่ไม่ได้ป่วยเพื่อเร่งโต และมีการคาดการณ์ว่าสถานการณ์จะแย่ลงเรื่อยๆ การใช้ยาปฏิชีวนะในภาคการปศุสัตว์จะเพิ่มขึ้นอีกสองในสาม โดยในสุกรและสัตว์ปีกคาดการณ์ว่าจะใช้เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า

คาดการณ์ว่า หากยังไม่ทำอะไรสักอย่างเพื่อแก้ไข เชื่อโรคดื้อยาสายพันธ์ุใหม่จะระบาดและคร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกกว่า 10 ล้านคนภายในปี 2025 ซึ่งเป็นจำนวนที่มากกว่าผู้เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งเสียอีก

ภายในอุตสาหกรรมไข่

โรคแพร่ได้ง่ายเนื่องจากสภาพสุขอนามัยที่ย่ำแย่และความแออัดในโรงเลี้ยง ในกรณีของไก่ไข่ พวกเขาชีวิตในกรงขังกับไก่ตัวอื่นๆ กางปีกได้ไม่เต็มที่ และยังเดินหรือทำพฤติกรรมตามธรรมชาติไม่ได้ ตัวครูดกับกรงลวดทำให้ขนร่วงและมีบาดแผลตามร่างกาย

หลายๆ ตัวตายคากรงและถูกทิ้งไว้ให้เน่าท่ามกลางเพื่อนๆ สายพันธุ์เดียวกันที่ยังมีชีวิตอยู่ ตัวที่รอดไปได้ก็ต้องใช้ชีวิตต่อไปในความสกปรกจนกระทั่งผลิตไข่ได้ไม่มากพอจึงจะถูกส่งไปโรงเชือด

ระบบฟาร์มแบบนี้ถือเป็นระบบที่โหดร้ายทารุณอย่างยิ่ง กระทั่งถูกสั่งห้ามแล้วในสหภาพยุโรป นิวซีแลนด์ และหลายรัฐในสหรัฐอเมริกา ทว่านี่คือความจริงแสนเศร้าที่ไก่ไข่ส่วนใหญ่ในประเทศไทยต้องเผชิญ

หากคุณไม่อยากต้องเสี่ยงกับอาหารที่อาจมีการปนเปื้อนแซลโมเนลลา และสงสารสัตว์ เราก็ขอเชิญให้คุณเป็นวีแกนเพื่อสัตว์และสุขภาพ นอกจากนี้คุณก็ยังช่วยสัตว์ได้ด้วยการเข้าร่วมเครือข่ายอาสาสมัครของเรา!

bottom of page