top of page

พิสูจน์แล้ว เนื้อสัตว์มีสารก่อมะเร็ง หลากความจริงเกี่ยวกับเนื้อที่คุณต้องรู้


หนึ่งในหกของอัตราการเสียชีวิตทั้งโลกนี้มีสาเหตุมาจากโรคมะเร็ง ทำให้มะเร็งกลายเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับสอง (รองจากโรคหัวใจ) แต่ถ้าหากเราเลี่ยงการเสียชีวิตจากโรคพวกนี้ได้ล่ะ? จริงๆ แล้วเราลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคเหล่านี้ได้อย่างมากเพียงเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค งานวิจัยหลายฉบับระบุแล้วว่าการบริโภคผลิตภัณฑ์จากสัตว์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื้อสัตว์เกี่ยวข้องโดยตรงกับโรคมะเร็งและโรคหัวใจ

เราไม่ได้สรุปข้อมูลดังกล่าวเอง สถิติเหล่านี้ได้มาจากองค์การอนามัยโลก (World Health Organization-WHO) แห่งสหประชาชาติ ในปี 2014 ผู้เชี่ยวชาญ 22 คนจาก 10 ประเทศทั่วโลกทบทวนงานวิจัยด้านระบาดวิทยากว่า 800 ฉบับเพื่อประเมินว่าความเสี่ยงโรคมะเร็งหลายชนิดเกี่ยวข้องกับการบริโภคเนื้อสัตว์และเนื้อแปรรูปหรือไม่

ผลการทบทวนงานวิจัยพบว่า เนื้อแปรรูปเช่นฮ็อตด็อก แฮม เบค่อน ไส้กรอก และอื่นๆ ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่ม 1 ซึ่งองค์การอนามัยโลกระบุว่า “มีหลักฐานที่ทำให้เชื่อได้ว่ามีสารก่อมะเร็ง” และอยู่ในกลุ่มเดียวกับแร่ใยหิน บุหรี่ รังสียูวี และเครื่องดื่มแอลกฮอล์

เนื้อแดงอยู่ในกลุ่ม 2A หมายถึงอาจมีสารก่อมะเร็งในมนุษย์ ซึ่งหมายความว่ายังมีหลักฐานจำนวนหนึ่งจากงานวิจัยด้านระบาดวิทยาที่ทำให้สรุปได้ว่าการบริโภคเนื้อแดงเกี่ยวข้องโดยตรงกับโรคมะเร็ง

ตัวเลขย่อมไม่โกหก

นักวิจัยยังพบอีกว่าการบริโภคเนื้อแปรรูป 50 กรัมทุกวันเพิ่มความเสี่ยงมะเร็งลำไส้ถึง 18 เปอร์เซ็นต์ เทียบเท่ากับการกินเบคอน 4 ชิ้น หรือฮ็อตด็อก 1 ชิ้น ข้อมูลจากสมาคมมะเร็งอเมริกันยังชี้ว่านี่อาจเพิ่มความเสี่ยงการเป็นโรคมะเร็งลำไส้ขึ้นไปถึง 5 หรือ 6 เปอร์เซ็นต์ สำหรับเนื้อแดง หลักฐานชี้ว่าเพิ่มความเสี่ยงการเกิดมะเร็งลำไส้ มะเร็งตับอ่อน และมะเร็งต่อมลูกหมาก

ความเสี่ยงเหล่านี้เกิดจากกระบวนการปรุงเนื้อสัตว์ เมื่อเนื้อสัตว์และอาหารทะเลถูกอุณหภูมิสูง จะปล่อยสารเฮเทอโรไซคลิกเอมีน และเมื่อไขมันจากเนื้อสัตว์หยดลงไปสัมผัสกับพื้นผิวกระทะร้อนๆ หรือเปลวไฟ ทำให้เกิดควัน ก็จะทำให้เกิดสารโพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน เมื่อเอนไซม์ร่างกายของเราเผาผลาญสารเหล่านี้ อาจทำให้เกิดความเสียหายต่อดีเอ็นเอ ทำให้สารทั้งสองอย่างที่ว่านี้เป็นสารก่อมะเร็ง ส่วนเนื้อแปรรูปมีก็ยังมี “ของแถม” อีกซึ่งก็คือสารเคมี สารปรุงแต่งอาหาร เช่น ไนไตรต์

นอกจากนี้นักวิจัยยังระบุว่าการบริโภคเนื้อสัตว์เป็นตัวการทำให้เกิดโรคอ้วนทั่วโลกมากพอๆ กับน้ำตาล ภาวะน้ำหนักเกิน และโรคอ้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดโรคมะเร็ง

ความเสี่ยงสำหรับผู้หญิง

สำหรับผู้หญิง งานวิจัยโดยมหาวิทยาลัยซอร์บอนน์ ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์แห่งสหราชอาณาจักร ระบุว่าการบริโภคอาหารแปรรูปเพิ่มขึ้น 10 เปอร์เซ็นต์เกี่ยวข้องโดยตรงกับความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งบางชนิดสูงขึ้น 12 เปอร์เซ็นต์ รายชื่อผลิตภัณฑ์ที่อาจมีสารก่อมะเร็งได้แก่นักเก็ตไก่และเนื้อแปรรูปอื่นๆ ผลการวิจัยฉบับนี้เป็นไปในทางเดียวกันกับงานวิจัยขององค์การอนามัยโลก

งานวิจัยอีกฉบับจากวารสารสาธารณสุขมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดพบความเชื่อมโยงระหว่างการบริโภคเนื้อแดงในปริมาณมากและมะเร็งเต้านมในผู้หญิง เมื่อเทียบกับผู้หญิงที่บริโภคเนื้อแดงเพียง 1 ส่วนต่อวัน ผู้หญิงที่บริโภคเนื้อแดง 1.5 ส่วนมีความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งเต้านมสูงกว่าถึง 22 เปอร์เซ็นต์ และยิ่งบริโภคมากขึ้น ก็ยิ่งมีความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งเต้านมสูงขึ้นอีก 13 เปอร์เซ็นต์

กินผักให้มาก กินเนื้อให้น้อย

ลองกลับมาทบทวนข้อมูลนี้กันอีกครั้งดีกว่า 1.5 ส่วนต่อวันเท่ากับ 100 กรัม ลองหยุดคิดดูสักนิดว่าวันหนึ่งคุณกินเนื้อแดงเท่าไหร่

หมายความว่าเนื้อแม้เพียงนิดเดียวก็อาจทำให้เกิดมะเร็งได้ งานวิจัยจากไบโอแบงค์แห่งสหราชอาณาจักรก็ได้ข้อสรุปเช่นเดียวกัน หลังจากติดตามชายและหญิงจำนวนกว่าห้าแสนคนที่ลงทะเบียนเป็นกลุ่มตัวอย่างในงานวิจัยนี้ ได้ข้อสรุปว่าคนที่บริโภคเนื้อแปรรูปหรือเนื้อแดงโดยเฉลี่ย 76 กรัมต่อวัน มีความเสี่ยงโรคมะเร็งลำไส้เพิ่มขึ้นถึง 20 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับคนที่บริโภคเนื้อแดงหรือเนื้อแปรรูปโดยเฉลี่ย 21 กรัมต่อวัน

อาหารที่สมดุล ประกอบด้วยพืชผักผลไม้ และเมล็ดถั่วต่างๆ อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระซึ่งช่วยป้องกันมะเร็ง มีการศึกษาวิจัยผักตระกูลครูซิเฟอรัส (Cruciferous) เช่นบล็อกโคลี่ กะหล่ำปลี ดอกกะหล่ำ และคะน้า เนื่องจากมีหลักฐานว่าผักตระกูลนี้อาจช่วยฆ่าเซลล์มะเร็งและยับยังการเคลื่อนย้ายของเนื้องอกซึ่งเป็นกระบวนการที่ทำให้มะเร็งลุกลามแพร่กระจาย

ไม่น่าแปลกใจเลยว่า ไม่ว่าจะไปอ่านงานวิจัยไหนๆ นักวิทยาศาสตร์ก็จะให้ข้อสรุปเดียวกัน กินผักให้เยอะกว่านี้ กินเนื้อให้น้อยลง และเราก็คงจะต้องเห็นด้วย การกินพืชไม่ใช่แค่ดีต่อสุขภาพ แต่ยังดีต่อสัตว์และต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

คุณอยากมาช่วยเราเผยแพร่ข้อมูลดีๆ เกี่ยวกับอาหารจากพืชในประเทศไทยไหม มาร่วมทีมอาสาสมัครกับเราสิ!

bottom of page