top of page

มนุษยชาติกำลังเร่งอัตราการสูญพันธุ์ และนี่คือ 5 สาเหตุ


การบริโภคสัตว์ทำให้สัตว์ในฟาร์มปศุสัตว์ทุกข์ทรมานตลอดชีวิต และพวกเขาคือสัตว์ที่ถูกละเมิดและละเลยมากที่สุด แต่ในระบบการผลิตอาหารมีผลกระทบร้ายแรงอีกด้านหนึ่งต่อสัตว์อื่น กว่า 60% ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม นก ปลา และสัตว์เลื้อยคลานบนโลกนี้ได้สูญหายไปตั้งแต่ช่วงปี 1970 ถึง 2014 โดยเป็นผลจากการกระทำของมนุษย์ อ้างอิงจากดัชนี Living Planet ผลการศึกษาโดย Zoological Society of London for WWF ในส่วนของสิ่งมีชีวิตในแหล่งน้ำจืด ประชากรสัตว์มีจำนวนลดลง 83%

เหตุการณ์นี้เป็นที่รู้จักกันในชื่อ การสูญพันธ์ครั้งที่ 6 มันคือกระบวนการที่สัตว์ป่าถูกสังหารหมู่ด้วยอัตราที่สูงกว่าอัตราธรรมชาติ 1000 เท่า นอกจากการทำร้ายสัตว์ที่ควรจะมีชีวิตอยู่อย่างสงบ มีที่อยู่อาศัยที่ปลอดภัย อาหารและน้ำที่เพียงพอ การลดจำนวนลงอย่างฮวบฮาบของสัตว์ป่าเกิดความเสี่ยงต่อมนุษย์บนโลก ยกตัวอย่าง สัตว์และพีชจำนวนมากทำให้โลกที่เราอาศัยอยู่ดำเนินไปอย่างเป็นปกติ ผ่านอุณหภูมิ อากาศ และการผสมเกสรดอกไม้ นี่คือความเสี่ยงที่เราไม่สามารถสูญเสียได้

อาหารของเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งนิสัยการบริโภคผลิตภัณฑ์จากสัตว์ คือสาเหตุการเสียสมดุลย์ การศึกษาที่ได้รับการตีพิมพ์ใน National Academy of Sciences แสดงให้เห็นว่า ปัจจุบันจำนวน 70% ของสัตว์ปีกทั้งหมดในโลกนี้ เป็นเป็ดและไก่ และ60% ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเป็นสัตว์ในฟาร์มปศุสัตว์ ส่วนมากจะเป็นวัวและควาย 36% คือมนุษย์ และ4% เป็นสัตว์ป่า

นี่คือสาเหตุที่การเลี้ยงปศุสัตว์เป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของการสูญพันธ์สัตว์ป่า

1. การสูญเสียที่อยู่อาศัย

ข้อมูลจากองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติระบุว่า “ปศุสัตว์คือกิจกรรมที่ใช้พื้นที่มากที่สุดในโลกนี้ ทุ่งเลี้ยงสัตว์และที่ปลูกอาหารเลี้ยงสัตว์คิดเป็น 80% ของพื้นที่ที่ใช้ในการเกษตรทั้งหมด อาหารที่ใช้สำหรับเลี้ยงสัตว์ใช้พื้นที่หนึ่งในสามของพื้นที่เพาะปลูกทั้งหมด ในขณะที่พื้นที่ที่ใช้เป็นทุ่งเลี้ยงสัตว์คิดเป็นจำนวน 26% ของพื้นที่ทั้งหมดในโลกที่ไม่มีน้ำแข็งปกคลุม” พี้นที่ที่เหลือถูกนำใช้ในการเพาะปลูก ซึ่งส่วนมากแล้วถูกนำไปปลูกพืชสำหรับเลี้ยงสัตว์ ข้อมูลอ้างอิงจากองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล หรือ WWF 79% ของปริมาณถั่วเหลืองที่ผลิตทั่วโลกถูกใช้ในการเลี้ยงวัวและควาย

การกระทำนี้เป็นบ่อเหตุแห่งการตัดไม้ทำลายป่าฝน รวมถึงพื้นที่ทางธรรมชาติที่บอบบาง โดยเฉพาะพื้นที่ตอนใต้ของโลก เช่น ลาตินอเมริกา แอฟริกา และเอเชีย ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ชีวิตสัตว์ป่าและความหลากหลายทางชีววิทยาได้รับความเสี่ยง หากคุณต้องการตัวอย่างที่น่าสลดใจ ไฟเผาป่าอเมซอนในปี 2019 เกิดจากการปศุสัตว์ที่เลี้ยงวัว ควาย การจุดไฟเผาป่าเป็นเทคนิคที่รู้จักกันดีสำหรับเกษตรกรที่เลี้ยงวัว ควาย เพื่อหักล้างถางพงป่าสำหรับทุ่งปศุสัตว์ นี่เป็นธรรมเนียมปฏิบัติในบราซิล และเป็นแนวปฏิบัติที่อันตราย ความแตกต่างคือ ในปี 2019 พื้นที่ที่ถูกทำลายนี้ ใหญ่กว่าพื้นที่เมื่อปีก่อน 85 % นั่นเพราะเกษตรกรต้องการแสดงให้เห็นว่า พวกเขาทำงานอย่างหนัก ปศุสัตว์เป็นหนึ่งในสาเหตุหลักในการตัดไม้ทำลายป่าอเมซอนในกลุ่มประเทศอเมซอนทั้งหมด 80% ของการตัดไม้ทำลายป่าอเมซอนมาจาการปศุสัตว์ ประมาณ 450,000 ตารางกิโลเมตรของพื้นที่ที่โดนตัดไม้ทำลายป่าอะเมซอนในประเทศบราซิลถูกเปลี่ยนให้เป็นทุ่งเลี้ยงวัวและควาย

Indigenous territory at the Amazonia Forest on fire in 2017. Photo: Felipe Werneck/Ibama.

โอเค ถ้าคุณไม่กินเนื้อจากบราซิล? แต่คุณก็ยังกินเนื้ออยู่ ใช่หรือไม่ ถ้าใช่ มีความเป็นไปได้ว่า ถั่วเหลืองที่สัตว์กินนั้นมาจากพื้นที่เพาะปลูกที่มาจากการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อถางที่ หากคุณรู้สึกช็อกจากข่าวไฟป่าอะแมซอน คุณควรจะรู้แล้วว่า80% ของถั่วเหลืองที่ผลิตที่นั่น (ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของการตัดไม้ทำลายป่า นอกจากการถางป่าเพื่อทำทุ่งเลี้ยงสัตว์) ถูกส่งออกเพื่อเลี้ยงปศุสัตว์ทั่วโลก “ตอนนี้เราพูดได้เลย อาจจะฟังเหมือนหรูหรา: ทว่าการที่คุณกินสเต๊คหนึ่งชิ้น เท่ากับคุณฆ่าตัวลีเมอร์ที่มาดากัสก้า ถ้าคุณกินไก่ เท่ากับคุณฆ่านกแก้วสายพันธ์อแมซอน” กีดอน อีเชล นักธรณีฟิสิกส์ จากวิทยาลัยบาร์ด แห่งแอนนาเดล ออน ฮัดสัน มลรัฐนิวยอร์ค กล่าว กีดอนศึกษาเรื่องอาหารของคนส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไร มันเป็นสมการที่เรียบง่าย (และน่ากลัวมาก) จริง ๆ แล้ว ยิ่งเรากินผลิตภัณฑ์จากสัตว์มากเท่าไหร่ เราก็ต้องใช้พื้นที่ในการเลี้ยงสัตว์มากขึ้นเท่าไหร่ และมีพื้นที่เหลือให้สัตว์ป่าน้อยลง

2. การกำจัดสัตว์ป่า หรือสัตว์ขาดอาหารจนตาย

มีฟาร์มปศุสัตว์หลายแห่งที่มีอาณาเขตติดกับป่า (เนื่องจากเป็นฟาร์มที่สร้างขึ้นในเขตที่ป่าไม้ถูกทำลาย) สัตว์ป่าในพื้นที่ดังกล่าวจะถูกฆ่าหรือถูกขับไล่ออกไป เป็นเรื่องปกติที่สัตว์ป่าจะกลับมาในพื้นที่เดิมที่พวกเขาเคยอยู่เพื่อหาอาหาร และอาหารก็หมายถึงสัตว์ที่อยู่ในฟาร์มที่สร้างไว้ในพื้นที่ที่พวกเขาเคยอยู่นั่นเอง

แล้วเจ้าของฟาร์มทำอย่างไรน่ะเหรอ? พวกเขาคิดว่าสัตว์ป่าเหล่านี้สร้างความเสียหายต่อผลผลิต และเริ่มกำจัดสัตว์ป่าทิ้ง เช่นหมาป่าและสัตว์ตระกูลแมวเช่นเสือถูกกำจัด เนื่องจากเข้ามาล่าวัวในฟาร์มเป็นอาหาร วัวไบสัน จิงโจ้ ม้าลาย และควายป่าก็ต้องแย่งอาหารกับวัวในฟาร์ม

สัตว์อื่นๆ เช่นตัวแบดเจอร์ถูกกำจัดทิ้งอย่างโหดเหี้ยมเนื่องจากเป็นพาหะนำวัณโรคมาสู่วัวในฟาร์ม สัตว์ที่สำคัญต่อความสมดุลย์ทางธรรมชาติ อย่างเช่น แมลงต่าง ๆ ถูกไล่ออกจากพื้นที่ปลูกพืชเชิงเดี่ยว (โดยเปลี่ยนมาปลูกพืชเพื่อนำมาเป็นอาหารให้สัตว์ในฟาร์ม อย่างที่เราบอกไปแล้วก่อนหน้า) หรือตายลงเนื่องจากกินยาฆ่าแมลงในปริมาณมาก

นอกจากนี้แล้ว เจ้าของฟาร์มยังล้อมรั้วเพื่อปกป้องสัตว์ที่อยู่ในฟาร์ม และกันสัตว์หาย และรั้วนี้เองที่ขัดขวางการย้าย์ถิ่นของสัตว์หลายล้านชีวิต และยังทำให้สัตว์ต้องขาดน้ำและขาดอาหารตาย

3. การใช้ทรัพยากรเกินขนาด และปัญหามลพิษ

การจับปลาเกินขนาดทำให้เกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวง เช่นการจับปลาแองโชวี่และซาร์ดีนส์จำนวนมหาศาลเพื่อนำไปเป็นอาหารปลาแซลมอน หมู และไก่ในฟาร์ม เมื่อจำนวนปลาแองโชวี่และซาร์ดีนส์ลดลงเรื่อยๆ ห่วงโซ่อาหารก็เริ่มพินาศ เพราะสัตว์ที่ตามธรรมชาติแล้วต้องกินปลาแองโชวี่และซาร์ดีนส์เป็นอาหารก็อาจหาอาหารได้ไม่พอ ยกตัวอย่าง นกเพนกวินอาจหาอาหารได้ไม่เพียงพอ

น้ำก็เป็นปัญหาทรัพยากรอย่างหนึ่งที่เราต้องใส่ใจ เนื่องจากการปศุสัตว์เป็นอุตสาหกรรมหลักที่ทำให้เกิดมลพิษทางน้ำ น้ำที่สัตว์ในฟาร์มดื่มกิน กลับสู่ธรรมชาติในรูปแบบของสิ่งปฏิกูล และของเหลวที่เต็มไปด้วยเชื้อโรค โลหะหนัก และปนเปื้อนยาปฏิชีวนะ ฮอร์โมนส์ ทำให้เกิดมลพิษไม่ใช่แค่น้ำบนดินเท่านั้น แต่ยังปนเปื้อนในน้ำบาดาลด้วย

ข้อมูลจากองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติระบุว่า ของเสียจากอุตสาหกรรมปศุสัตว์เป็นอินทรียวัตถุซึ่งต้องใช้ออกซิเจนในปริมาณมากจากน้ำในการย่อยสลาย เพิ่มความเสี่ยงการเกิดปรากฎการณ์ยูโทรฟิเคชั่นหรือภาวะที่ทำให้สารประกอบฟอสฟอรัสและไนโตรเจนในน้ำสูงมาก ทำให้พืชสีเขียวในน้ำเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว และปรากฎการสาหร่ายสะพรั่งในทะเลสาป แหล่งเก็บน้ำ และพื้นที่ชายฝั่ง

ด้วยเหตุนี้เอง แหล่งน้ำเกิดการปนเปื้อนจึงไม่เหมาะสำหรับการอยู่อาศัยของสัตว์น้ำ หรือเป็นแหล่งน้ำสำหรับดื่มกินสำหรับสัตว์บกที่อยู่ในพื้นที่นั้นๆ ได้ งานวิจัยฉบับหนึ่งจากมหาวิทยาแห่งมลรัฐหลุยเซียน่าระบุว่า เขตมรณะในแหล่งน้ำ หรือ Ocean Dead zones ที่ใหญ่ที่สุดในโลกอยู่ในอ่าวเม็กซิโก เป็นน่านน้ำที่กินพื้นที่กว่า 8,717 ตารางไมล์ที่ไม่มีอ็อกซิเจนเลย ขนาดเท่ากับมลรัฐนิวแฮมป์เชียร์ในสหรัฐอเมริกา

รายงานจาก Mighty Earth ระบุว่า เขตมรณะในมหาสมุทรเกิดจากสารพิษในมูลสัตว์และปุ๋ยคอกที่ถูกทิ้งลงทะเล แล้วเป็นฝีมือใครน่ะเหรอ? กล่าวกันว่าไทสันฟู้ดส์ บริษัทผู้ผลิตและแปรรูปเนื้อไก่ เนื้อวัว และเนื้อหมูรายใหญ่เป็นอันดับสองของโลกเป็นตัวการหลักในการก่อมลพิษนี้

4. ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาวะภูมิอากาศแย่ลงอย่างหนัก

การปศุสัตว์เป็นตัวการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 14.5 -18 % ของก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ ข้อมูลจากองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติระบุว่า เนื้อวัวเป็นตัวการของก๊าซเรือนกระจกจากภาคปศุสัตว์ถึง 41% ในขณะที่อุตสาหกรรมนมวัว ผลิตก๊าซเรือนกระจก 20% ของภาคปศุสัตว์ ในปี 2016 บริษัทผู้ผลิตเนื้อรายใหญ่ของโลกสามราย ได้แก่ เจบีเอส คาร์กิล และไทสัน ผลิตก๊าซเรือนกระจกรวมกันมากกว่าประเทศฝรั่งเศสทั้งประเทศเสียอีก

หมายความว่าการปศุสัตว์นี่เองที่เป็นตัวการหลักในการทำให้เกิดภาวะโลกร้อนและหายนะทางธรรมชาติต่างๆ ที่เห็นกันอยู่บ่อยๆ ในช่วงหลังนี้ก็ได้แก่ ไฟป่า ภัยแล้งที่กินเวลานานขึ้นในบางภูมิภาคของโลก พายุเขตร้อนที่เกิดถี่ขึ้น ยาวนานขึ้น และรุนแรงขึ้น

แน่นอนว่าสัตว์ป่าก็ได้รับผลกระทบไปด้วย จำเรื่องไฟป่าออสเตรเลียซึ่งเริ่มปะทุขึ้นเมื่อเดือนกันยายนปี 2019 กันได้หรือไม่ ไฟป่านี้ทำให้สัตว์ป่านับสิบล้านชีวิต และคนอีก 26 คนต้องเสียชีวิตลง ในจำนวนนี้ได้แก่ โคอาล่าประมาณ 25,000 ตัวถูกย่างสด และมีการวางแผนกำจัดอูฐกว่า 10,000 ตัวเนื่องจากว่าพวกเขาดื่มน้ำมากเกินไป

ขณะนี้พื้นที่ป่ากว่า 10 ล้านเฮคเตอร์ถูกเผาจนราบ ซึ่งถือว่าเป็นพื้นที่ที่ใหญ่กว่าประเทศออสเตรเลียทั้งประเทศ คาดว่าระบบนิเวศน์ในบางพื้นที่นั้นจะฟื้นฟูกลับมาเป็นเหมือนเดิมได้ ภายในเวลาไม่กี่ปี แต่ในบางพื้นที่ก็อาจจะต้องใช้เวลานับศตวรรษกว่าจะกลับมาเป็นเหมือนเดิม หรืออาจจะไม่กลับมาเป็นเหมือนเดิมอีกเลยก็ได้

ปัญหาโลกร้อนยังทำให้น้ำทะเลอุณหภูมิสูงขึ้น และปัญหาการปล่อยคาร์บอนก็ยังเพิ่มความเป็นกรดในทะเล ส่งผลกระทบต่อแนวปะการัง ซึ่งยูเนสโก้ถือว่าเป็น “พื้นที่อนุบาลแห่งท้องทะเล” และ “จุดรวมความหลากหลายทางชีวิภาพ” แนวปะการังในเขตร้อนบางแห่ง อาจมีสิ่งมีชีวิตมากกว่า 1000 สายพันธุ์ในพื้นที่หนึ่งตารางเมตร ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องในอดีต ข้อมูลจากนาซ่าระบุว่า ขณะนี้ แนวปะการังที่ภาพดาวเที่ยมจับได้กว่า 27% ถูกทำลายจนหายไปแล้ว และกว่า 32 % กำลังอยู่ในภาวะเสี่ยงที่จะหายไปภายใน 32 ปีข้างหน้า

Photo: Greenpeace

5. การประมงเกินขนาด สัตว์น้ำพลอยได้ (bycatch) และอุปกรณ์จับสัตว์น้ำ

ข้อมูลจากยูเนสโกระบุว่า หากยังไม่มีการแก้ปัญหาใดๆ ภายในปี 2100 “กว่าครึ่งของสายพันธุ์สัตว์น้ำในโลกอาจะอยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์” และปัญหาที่ต้องแก้ไขโดยด่วนก็คืออุตสาหกรรมการประมง ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาถึงสามประการด้วยกัน ได้แก่ การประมงเกินขนาด สัตว์น้ำพลอยได้ (bycatch) และอุปกรณ์จับสัตว์น้ำที่ถูกทิ้ง รายงานฉบับหนึ่งจาก WWF ระบุว่า ระหว่างปี 1970 ถึง 2012 ประชากรสัตว์น้ำมีกระดูกสันหลังลดลงกว่า 49% และการประมงเกินขนาดทำให้กว่าหนึ่งในสี่ของสายพันธุ์ปลาฉลาม ปลากระเบน และปลาสเกตเป็นสัตว์น้ำใกล้สูญพันธุ์

การประมงเกินขนาดหมายถึงการใช้ทรัพยากรจากมหาสมุทรเกินกว่าที่มหาสมุทจะฟื้นฟูกลับมาได้ การประมงยังคร่าชีวิตของสัตว์น้ำซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่มีชีวิตจิตใจ รับรู้ความเจ็บปวดได้กว่านับล้านชีวิต นอกจากนี้ก็ยังทำให้เกิด “ช่องว่าง” ในห่วงโซ่อาหาร หมายความว่า สัตว์น้ำผู้ล่าจะหาอาหารได้ยากเพราะสายพันธุ์ที่เป็นเหยื่อมีจำนวนประชากรน้อย WWF ประเมินว่า ในปี 2015 สายพันธุ์สัตว์น้ำกว่า 29% กำลังเผชิญปัญหาดังกล่าวนี้

นอกจากนี้ การประมงมักใช้มุ้งลอย ซึ่งเป็นเทคนิคการทอดแหเป็นแนวตั้งในมหาสมุทร และกวาดเอาปลาทุกชีวิตที่อยู่ในพื้นที่ที่แหลากผ่าน แต่เนื่องจากความหลากหลายของสายพันธุ์สัตว์ในมหาสมุทร สัตว์น้ำหลายสายพันธุ์ถูกจับมาด้วยทั้งๆ ที่ไม่ได้เป็นสายพันธุ์ที่คนนิยมรับประทานเป็นอาหาร สัตว์ทะเลที่ถูกจับมาโดยไม่ได้ตั้งใจนี้เรียกว่าสัตว์น้ำพลอยได้ หรือ bycatch

WWF ยังประเมินอีกว่าอย่างน้อย 40% ของสัตว์น้ำที่จับได้ในแต่ละปี หรือประมาณ 38 ล้านตันนั้น เป็นสัตว์น้ำพลอยได้ และนี่ก็อาจจะเป็นการประเมินขั้นต่ำที่สุดด้วยซ้ำ เนื่องจากว่าสถิติไม่ครอบคลุมสัตว์ทะเลใหญ่ๆ อย่างเต่าทะเล สัตว์จำพวกวาฬและโลมา รวมถึงนกทะเล ซึ่งพลอยถูกจับไปด้วย ข้อมูลจาก WWF ยังระบุอีกว่า วาฬ โลมา และพอร์พอยส์กว่า 300,000 ชีวิตต้องตายลงในแต่ละปี เนื่องจากเข้าไปติดในแหจับปลา ทำให้การจับสัตว์น้ำพลอยได้นี่เอง ที่เป็นสาเหตุการตายหลักของสัตว์ทะเลจำพวกวาฬและโลมา

มุ้งลอยและอุปกรณ์จับสัตว์น้ำที่ใช้แล้วก็ถูกทิ้งไว้ในทะเลเสียอย่างนั้น กรีนพีซประเมินว่า ในแต่ละปีมี แห เบ็ด และอุปกรณ์ดักจับสัตว์น้ำที่ใช้ในการประมงพาณิชย์กว่า 640,000 ถูกทิ้งอยู่ในทะเล ข้อมูลสรุปว่าอุปกรณ์จับปลาที่ถูกทิ้งทั้งอย่างตั้งใจและไม่ตั้งใจนี้เองที่เป็นขยะพลาสติกหลักในทะเล คิดเป็น 85% ของขยะที่ลอยอยู่บนผิวน้ำทะเล ในภูเขาใต้ทะเล เทือกเขากลางมหาสมุทร และในแพขยะใหญ่แห่งมหาสมุทรแปซิฟิก

สัตว์เหล่านี้จะติดอยู่ในอุปกรณ์ดักจับสัตว์น้ำเหล่านี้ และตายเพราะหายใจไม่ออก หรือขาดอาหาร หรือไม่ก็คิดว่าอุปกรณ์เหล่านี้เป็นอาหารและกินเข้าไป สัตว์ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดก็อย่างเช่นสัตว์น้ำที่มีเปลือก เต่าทะเล นกทะเล วาฬ ฉลามและโลมา ในปี 2018 พบว่ามีเต่าทะเลกว่า 300 ชีวิตตายลง ลอยอยู่ในน่านน้ำของเม็กซิโก หลังจากเข้าไปติดในอุปกรณ์จับปลาที่ถูกทิ้งกลางทะเล

ห้าเหตุผลเหล่านี้ก็เกินพอแล้วที่จะพิสูจน์ให้เห็นว่าการเลิกสนับสนุนผลิตภัณฑ์จากสัตว์ไม่ใช่แค่ดีต่อสัตว์เท่านั้น แต่ยังจะช่วยปกป้องสายพันธุ์สัตว์ป่าต่างๆ อีกด้วย ถ้าหากคุณห่วงใยในความหลากหลายทางชีวภาพของโลกเราล่ะก็ ขอเชิญชวนให้มาร่วมโครงการท้าลอง 22 วันของเรา เพื่อเปลี่ยนมาบริโภคอาหารแบบแพลนต์เบสโดยได้รับคำแนะนำจากทีมนักโภชนาการและพี่เลี้ยงผู้มากประสบการณ์

bottom of page