top of page

งานวิจัยเผย วิกฤตสภาพภูมิอากาศอาจส่งผลกระทบถึงหนึ่งในสามของการผลิตอาหารทั่วโลก



งานวิจัยในวารสาร วัน เอิร์ธ (One Earth) ประมาณการว่า วิกฤตสภาพภูมิอากาศอาจส่งผลกระทบถึงหนึ่งในสามของการผลิตอาหารทั่วโลก โดยตัวเลขบ่งชี้ว่าสภาพภูมิอากาศจะเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างมากในช่วงปลายศตวรรษนี้ ซึ่งสภาพภูมิอากาศที่แย่ลงอาจส่งผลให้การผลิตอาหารบนที่ดินผืนเดิมเป็นไปไม่ได้ในอนาคต พื้นที่เช่น เอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแถบประเทศซูดาน-ซาฮีเลียนในแอฟริกามีความเสี่ยงสูงเนื่องจากมีความยืดหยุ่นต่ำเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลง


เพื่ออธิบายปัญหานี้ นักวิจัยได้พัฒนาแนวคิดใหม่ที่เรียกว่า "พื้นที่ภูมิอากาศปลอดภัย" หรือ Safe climatic space ซึ่งหมายถึงลักษณะสภาพอากาศที่มีเสถียรภาพมาหลายพันปี และทำให้แนวปฏิบัติทางการเกษตรของมนุษยชาติประสบความสำเร็จ โดยปัจจัยหลักที่ใช้เป็นเกณฑ์ตัดสินพื้นที่ภูมิอากาศปลอดภัยเหมาะสมแก่การเพาะปลูกประกอบไปด้วย ปริมาณน้ำฝน อุณหภูมิและความแห้งแล้งของดิน ภายนอกพื้นที่ภูมิอากาศปลอดภัย การเก็บเกี่ยวพืชผลจำนวนมาก รวมถึงสัตว์ที่เลี้ยงไว้ใช้งานหรือเพื่อเป็นอาหารจะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติไม่ได้


ปัจจุบันพื้นที่ภูมิอากาศปลอดภัยมีส่วนรับผิดชอบในการผลิตอาหารถึง 95 เปอร์เซ็นต์ แต่ภายในปลายศตวรรษนี้ ความไม่เสถียรของพื้นที่ภูมิอากาศนี้ จะส่งผลกระทบต่อ 31 เปอร์เซ็นต์ของการผลิตพืชผลและ 34 เปอร์เซ็นต์ของสัตว์เศรษฐกิจ ยิ่งสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงมากเท่าไหร่ การผลิตอาหารก็จะได้รับผลกระทบมากยิ่งขึ้นเท่านั้น


หากอุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นสูงกว่าขีดจำกัดสูงสุดที่ 1.5 - 2 องศาเซลเซียส เราจะเข้าสู่โลกแบบที่ไม่เคยมีมาก่อนและนักวิจัยยังไม่อาจบอกถึงผลกระทบที่จะตามมาได้ นักวิจัยจึงแนะนำว่าผู้มีอำนาจตัดสินใจต้องกำหนดนโยบายที่มุ่งลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พร้อมกับส่งเสริมระบบอาหารให้มีความยั่งยืนและเพิ่มความยืดหยุ่นของสังคม


เป็นเรื่องน่าขันที่ระบบอาหารจะได้รับผลกระทบอย่างมากจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เนื่องจากภาคปศุสัตว์ ซึ่งผลิตอาหารมาให้เรานี่เองที่​มีส่วนรับผิดชอบต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึง 26 เปอร์เซ็นต์ของโลก โดยที่การปศุสัตว์ การประมงและการผลิตอาหารสัตว์คิดเป็นมากกว่าครึ่งของจำนวนนี้ และนี่คือเหตุผลที่สถาบันใหญ่ระดับโลกอย่าง คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ส่งเสริมการรับประทานอาหารจากพืช อาหารมังสวิรัติหรืออาหารจากพืชสามารถช่วยลดการปล่อยมลพิษได้เป็นอย่างมาก ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้เป็นไปได้และควรเป็นการเปลี่ยนแปลงทั้งในระดับนโยบายและการเปลี่ยนแปลงระดับบุคคล




Comments


bottom of page