top of page

โคโลราโดประกาศห้ามกรงตับขังแม่ไก่ เป็นรัฐที่ 8 ในสหรัฐฯ

กฎหมายฉบับใหม่ในมลรัฐโคโลราโดบัญญัติว่าไข่ไก่ทุกฟองที่จำหน่ายและผลิตในรัฐจะต้องมาจากฟาร์มปลอดกรงทั้งหมด 100% ภายในปี 2025 สมาชิกสภานิติบัญญัติได้รับรองกฎหมายฉบับดังกล่าว ซึ่งเสนอเป็นร่างกฎหมายมาแต่เดือนมิถุนายนแล้ว กฎหมายฉบับนี้ลงนามโดยจาเรด โพลิส ผู้ว่าการมลรัฐโคโลราโด

มาตรการนี้จะทำให้แม่ไก่กว่า 5.5 ล้านชีวิตได้อยู่ในฟาร์มปลอดกรงที่ติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ ที่จำเป็นสำหรับแม่ไก่ ทั้งทางร่างกายและจิตใจ เช่น รังวางไข่ คอน พื้นที่สำหรับคุ้ยเขี่ย และสำหรับคลุกฝุ่น สภาพการเลี้ยงแบบนี้จะช่วยบรรเทาความทุกข์ทรมานของแม่ไก่ได้อย่างมาก เนื่องจากว่าพวกเขาจะไม่ต้องอยู่ในกรงตับ ซึ่งเป็นกรงแคบๆ อีกต่อไป

วิชญะภัทร์ ภิรมย์ศานต์ผู้จัดการฝ่ายการรณรงค์ประจำประเทศไทยของซิเนอร์เจีย แอนิมอลกล่าวว่า "นี่ก็เป็นอีกตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าการผลิตไข่ไก่ทั่วโลกกำลังเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบบปลอดกรง หรือ cage-free นี่เป็นเพียงสิ่งเล็กน้อยที่เราจะทำได้เพื่อสัตว์นับล้านๆ ชีวิต ซึ่งก็มีชีวิตจิตใจ เจ็บปวดได้ เป็นข้อเท็จจริงที่งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์หลายๆ ฉบับก็ได้พิสูจน์มาแล้ว"

การเปลี่ยนแปลงที่ไม่หยุดยั้ง

โคโลราโดเป็นมลรัฐที่แปดในรัฐทางเหนือของสหรัฐอเมริกาที่ผ่านร่างกฎหมายห้ามใช้กรงตับในช่วงสี่ปีที่ผ่านมา ตามรัฐมิชิแกน โอรีกอน วอชิงตัน แมสซาชูเซตส์ แคลิฟอร์เนีย โอไฮโอ และโรด ไอแลนด์ การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้รับการผลักดันจากองค์กรพิทักษ์สัตว์ต่างๆ เสียงเรียกร้องของผู้บริโภค นโยบายไข่ไก่ปลอดกรงจากบริษัทใหญ่ๆ เช่น เนสท์เล่ มอนเดลีซ อินเทอร์เนชั่นนัล ยูนิลิเวอร์ คราฟต์ไฮนซ์ เบอร์เกอร์คิง และแมคโดนัลด์ บริษัทเหล่านี้กำลังเปลี่ยนห่วงโซ่อุปทาน เพื่อยุติการใช้ไข่ไก่จากฟาร์มที่ขังแม่ไก่ไว้ในกรงในสหรัฐอเมริกาและประเทศอื่นๆ ทั่วโลก

ปัจจุบันนี้ 26% ของไข่ไก่ที่ผลิตและวางจำหน่ายในสหรัฐอเมริกาเป็นไข่ไก่จากฟาร์มปลอดกรง หรือ cage-free แล้ว ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัด เมื่อเทียบกับเมื่อหกปีที่แล้ว ซึ่งมีไข่ไก่จากฟาร์ม cage-free เพียง 5% เท่านั้น องค์กรต่างๆ ที่เป็นแกนนำหลักในการผลักดันกฎหมายดังกล่าวต่างก็ร่วมกันแสดงความยินดีกับการผ่านร่างกฎหมายฉบับนี้ เนื่องจากถือเป็นเรื่องยากที่จะผ่านกฎหมายสักฉบับในช่วงเวลาที่โลกกำลังเผชิญกับไวรัสโคโรนาอยู่เช่นนี้

ทำไมต้อง"cage free"

กรงตับถือเป็นหนึ่งในระบบที่โหดร้ายทารุณที่สุดระบบหนึ่งในอุตสาหกรรมการผลิตอาหา แม่ไก่ต้องใช้ทั้งชีวิตอยู่ในกรงขังแคบๆ และสกปรก ขนาดเท่ากับกระกาษ A4 หนึ่งแผ่น แม่ไก่อยู่กันอย่างแออัดยัดเยียด ทำให้พวกเขาเกิดความเครียด บาดเจ็บทางร่างกาย ขนร่วง และมีโรคทางกระดูก

(ภาพจาก We Animals)

เราทำอะไรได้บ้างในประเทศของเรา

ซิเนอร์เจีย แอนิมอล ขอความร่วมมือให้บริษัทใหญ่ต่างๆ ในประเทศไทยเลิกใช้หรือจำหน่ายไข่ไก่ที่มาจากฟาร์มระบบกรง เพื่อเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมการผลิตอาหาร มาช่วยเราส่งเสียงถึงแมคโดนัลด์ประเทศไทยโดยการลงชื่อในแคมเปญรณรงค์ของเราที่ www.change.org/McThaiEggs

Comentários


bottom of page