top of page

4 ปัญหาสิ่งแวดล้อมจากการบริโภคผลิตภัณฑ์จากสัตว์

บ่อยครั้งที่เราได้ดูสารคดีหรืออ่านบทความที่บอกว่าโลกของเรากำลังแย่ลงทุกวัน เราตระหนักว่าสัตว์นับพันชีวิตกำลังจะสูญพันธ์ แหล่งที่อยู่อาศัยลดน้อยลงเรื่อย ๆ ธารน้ำแข็งกำลังละลาย และสถานการณ์โรคติดต่อจะรุนแรงและระบาดบ่อยครั้งขึ้น แต่เราทำอะไรได้บ้างเพื่อไม่ให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น การเลิกบริโภคเนื้อสัตว์เป็นสิ่งหนึ่งที่เราจะทำได้เพื่อสิ่งแวดล้อม และนี่คือเหตุผล

1) การตัดไม้ทำลายป่า

การตัดไม้ทำลายป่าเป็นการทำลายสิ่งแวดล้อมที่เชื่อมโยงโดยตรงกับการขยายฟาร์มปศุสัตว์เนื่องจากมีการแผ้วถางป่าหรือเผาป่าเพื่อปลูกหญ้าเลี้ยงสัตว์

อุตสาหกรรมปศุสัตว์นับเป็นสาเหตุสำคัญอันดับต้นๆ ที่ทำให้เกิดการต่ัดไม้ทำลายป่าในประเทศแถบลุ่มน้ำแอมะซอนและคิดเป็น 80 เปอร์เซ็นต์ของการทำลายป่าทั้งหมด ไฟป่าอะแมซอนในปี 2019 ซึ่งทำให้คนทั้งโลกต้องตะลึง ก็เกิดจากคนเลี้ยงโคกระบือเผาป่าเพื่อขยายพื้นที่ทุ่งหญ้าเลี้ยงปศุสัตว์ ทำให้ผืนป่าถูกทำลายไปมากกว่าปีที่แล้ว 85 เปอร์เซ็นต์

นอกจากนี้ ยังมีการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกพืชสำหรับใช้เลี้ยงสัตว์ที่เลี้ยงไว้เพื่อผลิตเนื้อไข่ และนมทั่วโลก ประมาณสามในสี่ของถั่วเหลืองทั้งโลกถูกเอามาใช้เลี้ยงสัตว์ ภายในปี 2050 ต้องผลิตถั่วเหลืองเพิ่มขึ้นอีกเกือบ 80 เปอร์เซ็นต์ เป็น 390 ล้านตัน และต้องใช้ข้าวโพดมากกว่า 265 ล้านตันเพื่อนำไปเป็นอาหารสัตว์ที่มีชะตากรรมต้องมาจบบนจานอาหารของเรา

ดังนั้นถึงแม้คุณจะไม่ได้กินเนื้อสัตว์ที่มาจากป่าแอมะซอน (ซึ่งจริงๆ คุณอาจจะกำลังกินอยู่โดยไม่รู้ตัวก็ได้) คุณก็มีส่วนในการตัดไม้ทำลายป่า เพราะว่าอุตสาหกรรมปศุสัตว์มาจากระบบนิเวศน์ที่สำคัญไม่แพ้กันกัน เช่น ทุ่งหญ้าแพรรี่ในอเมริกาเหนือ ทุ่งหญ้าเซอราโด้ในบราซิล หรือแกรน ชาโค ในอาร์เจนติน่า

“การลดภาระของผืนดิน และลดความต้องการเนื้อสัตว์โดยการเปลี่ยนอาหาร จะช่วยลดความหนาแน่นในฟาร์มปศุสัตว์ได้ และยังช่วยลดอัตราการพังทลายของดิน นอกจากนี้ก็ยังช่วยชะลอการตัดไม้ทำลายป่าและการเสื่อมสภาพของดินด้วย

2) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

เวลาพูดถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เรามักจะนึกถึงภาพรถยนต์จำนวนมากบนถนนไฮเวย แต่ความจริงแล้วการปศุสัตว์ต่างหากที่ผลิตก๊าซเรือนกระจกมากกว่ารถยนต์ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติระบุว่าก๊าซเรือนกระจกจากปศุสัตว์คิดเป็น 14.5 เปอร์เซ็นต์ของก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ การศึกษาของมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ดระบุว่า ก๊าซเรือนกระจกจากการปศุสัตว์คิดเป็น 72 ถึง 78 เปอร์เซ็นต์ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดของภาคอุตสาหกรรมการเกษตร

ในปี 2016 บริษัทผู้ผลิตเนื้อสัตว์รายใหญ่ที่สุดของโลกสามบริษัท JBS, Cargill และ Tyson ผลิตก๊าซเรือนกระจกรวมกันมากกว่าประเทศฝรั่งเศสทั้งประเทศ บริษัทผู้ผลิตเนื้อสัตว์รายใหญ่ที่สุดของโลกห้าบริษัทสร้างมลพิษมากกว่าบริษัทน้ำมันขนาดใหญ่ เช่น Exxon, Shell และ BP เสียอีก

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ เราก็คงพอจะสังเกตเห็นหายนะทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นเพราะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อุณหภูมิของโลกสูงขึ้น อุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้น และแผ่นน้ำแข็งก็เริ่มละลายจนบางลงและเล็กลงเรื่อยๆ ธารน้ำแข็งละลาย ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น คลื่นความร้อน ภาวะแล้ง ฝนตกหนักและน้ำท่วมเกิดบ่อยขึ้นกว่าเดิม ฟิลลิป แอลสตัน ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนจากสหประชาชาติกล่าวว่า วิกฤตจากสภาวะภูมิอากาศที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เช่นนี้จะเป็นภัยต่อประชาธิปไตยและสิทธิทางการเมืองและสังคม

IPCCกล่าวว่า “การเปลี่ยนแปลงอาหารไปสู่การบริโภคแบบมังสวิรัติจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ และลดการใช้พื้นที่ในการปลูกพืชและทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ ช่วยพัฒนาความหลากหลายทางชีวภาพ และลดค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้ในการฟื้นฟูธรรมชาติ” นอกจากนี้ก็ยังเน้นย้ำอีกว่าอาหารที่ประกอบด้วยพืชเป็นส่วนมากเช่น ผัก ผลไม้ ธัญพืช ถั่วและเมล็ดพืชต่างๆ ดีต่อสุขภาพมากกว่าและยังลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เมื่อเทียบกับอาหารที่ประกอบด้วยเนื้อสัตว์เป็นส่วนใหญ่

3) การปนเปื้อนในน้ำและดิน

อุตสาหกรรมการเกษตรใช้น้ำจืดมากถึง 92 เปอร์เซ็นต์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ใช้น้ำเกือบหนึ่งในสามของปริมาณ 92 เปอร์เซ็นต์นี้ ซึ่งปริมาณนี้ไม่นับการบริโภคน้ำทางอ้อมของสัตว์ อย่าลืมว่าธัญพืชส่วนใหญ่ที่ปลูกไว้ทั่วโลกนำมาใช้เป็นอาหารสัตว์ในฟาร์ม

รอยเท้าน้ำหรือ Water Footprint (ค่าชี้วัดการใช้น้ำในการผลิตและในการบริโภค) ของผลิตภัณฑ์จากสัตว์มีค่าสูงกว่าผักมาก เช่น ผักส่วนใหญ่ใช้น้ำ 322 ลิตรต่อการผลิต 1 กิโลกรัม ส่วนผลไม้ใช้น้ำ 962 ลิตรต่อการผลิต 1 กิโลกรัม ส่วนเนื้อไก่ใช้น้ำ 4,325 ลิตรในการผลิตเนื้อไก่ 1 กิโลกรัม เนื้อวัวใช้น้ำ 15,415 ลิตรต่อ 1 กิโลกรัม และการผลิตนมวัวหนึ่งลิตรต้องใช้น้ำถึง 1,012 ลิตร

และหากเราลดการบริโภคผลิตภัณฑ์จากสัตว์ เราจะสารปนเปื้อนในน้ำ แม้แต่ชั้นหินอุ้มน้ำ น้ำที่ใช้ในการผลิตเนื้อสัตว์มักคืนกลับสู่สิ่งแวดล้อมในรูปแบบของสิ่งปฏิกูลหรือน้ำเสีย และมูลสัตว์เต็มไปด้วยสสารมากมาย ได้แก่สารอาหารที่ไปเร่งการเจริญเติบโตของพืช สาหร่าย หรือแพลงก์ตอนในน้ำ ทำให้เกิดปรากฎการณ์ยูโทรฟิเคชัน(พืชในน้ำเติบโตมาก ทำให้ออกซิเจนในน้ำน้อย และเกิดน้ำเน่าเสีย) ยา โลหะหนัก และเชื้อโรค

4)ความหลากหลายทางสายพันธุ์ถดถอย

การศึกษาฉบับหนึ่งซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร The National Academy of Sciences ระบุว่า ขณะนี้ 70 เปอร์เซ็นต์ของสัตว์ปีกทั้งหมดเป็นไก่ ห่าน และสัตว์ปีกอื่น ๆ ที่อยู่ในฟาร์ม 60 เปอร์เซ็นต์ ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมส่วนมากแล้วเป็นวัว ควายและหมูที่เลี้ยงไว้เพื่อเป็นอาหาร 36 เปอร์เซ็นต์เป็นมนุษย์ และเป็นสัตว์ป่าเพียง 4 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น สัตว์ฟาร์มจำนวนมหาศาลอาศัยอยู่ในพื้นที่ซึ่งเคยเป็นแหล่งที่อยู่ของสัตว์ป่า

องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติกล่าวว่า จาก “พื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง” ทั้งหมด 35 แห่ง มี 23 แห่งที่ได้รับผลกระทบจากการปศุสัตว์

โฮเซ่ กราซิอาโน่ ดา ซิลวา อดีตผู้อำนวยการใหญ่ของ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ กล่าวว่า “ถ้าเราไม่ปกป้องความหลากหลายทางชีวิตภาพชีวิตเราก็จะตกอยู่ในอันตรายเช่นกัน สถานการณ์นี้ทำให้ความมั่นคงด้านอาหารซึ่งอยู่ในภาวะบอบบางอยู่แล้ว มาอยูในจุดที่อาจพังทลายได้ทุกเมื่อ

คุณเป็นห่วงสิ่งแวดล้อมหรือเปล่า คิดอยู่ใช่ไหมจะลดรอยเท้าคาร์บอนของเราที่มีต่อโลกอย่างไรดี ้ถึงเวลาเข้าใจได้แล้วว่ารถยนต์ โรงงานอุตสาหารกรมและโรงงานไฟฟ้าไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่ทำร้ายสิ่งแวดล้อมของเรา

อาหารของเรา เป็นหนทางเปลี่ยนโลกทางหนึ่งที่เราทำได้ทันที และมีประสิทธิภาพ ช่วยส่งเสิรมระบบการผลิตอาหารที่ยั่งยืนกว่า เป็นธรรมกว่า และไม่ต้องทำร้ายทั้งสัตว์หรือสิ่งแวดล้อม อยากให้ลองพิจารณา เปลี่ยนมาบริโภคอาหารที่ปราศจากเนื้อ นม ไข่ กันดีกว่านะ คลิกที่นี่เพื่อหาข้อมูลเพิ่มเติม

bottom of page