top of page

บอกลาความเชื่อผิดๆ: กินถั่วเหลืองทำให้เกิดมะเร็งเต้านมและกระทบฮอร์โมนเพศชายจริงหรือ



ถั่วเหลืองเป็นอาหารที่อุดมไปด้วยคุณประโยชน์ต่อร่างกาย ทั้งมีโปรตีนสูงและเต็มไปด้วยสารอาหารที่จำเป็น แต่เป็นเวลาหลายปีแล้วที่ถั่วเหลืองมักถูกเข้าใจผิด หนึ่งในความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับถั่วเหลืองในไทยคือ การบริโภคถั่วเหลืองจะทำให้เสี่ยงเป็นโรคมะเร็งเต้านม โดยเฉพาะในผู้หญิง ในขณะเดียวกัน ผู้ชายบางคนก็เชื่อว่าการบริโภคถั่วเหลืองในปริมาณที่มากเกินไปอาจส่งผลกระทบต่อฮอร์โมนเพศชาย และทำให้ร่างกายมีลักษณะคล้ายผู้หญิงมากขึ้น

แต่ความเชื่อเหล่านี้ก็เป็นเพียงความเชื่อที่ไม่ได้มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มาสนับสนุน อย่างไรก็ตาม หลายคนยังคงมีความเชื่อเหล่านี้ และลังเลที่จะรับประทานถั่วเหลือง

ความเชื่อผิดๆ #1: ถั่วเหลืองทำให้เกิดมะเร็งเต้านม

ความเชื่อที่ว่าถั่วเหลืองเพิ่มความเสี่ยงหรือทำให้เกิดมะเร็งเต้านมนั้นมาจากระดับของไอโซฟลาโวนที่สูงในถั่วเหลือง ซึ่งเป็นไฟโตเอสโตรเจนและมีโครงสร้างทางเคมีที่คล้ายคลึงกับฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ร่างกายผลิต ฮอร์โมนเอสโตรเจนคือฮอร์โมนเพศหญิงที่สำคัญต่อการพัฒนาของระบบสืบพันธุ์ และมีความเชื่อมโยงกับการเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งเต้านมที่สูง แต่ถึงแม้จะมีโครงสร้างที่คล้ายกัน ไอโซฟลาโวนนั้นมีฤทธิ์ที่อ่อนกว่ามาก และไม่เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งเต้านมใดๆ ทั้งสิ้น

ยิ่งไปกว่านั้น สมาคมโรคมะเร็งแห่งสหรัฐอเมริกาเผยว่าการบริโภคถั่วเหลืองนั้นไม่มีผลกระทบที่คล้ายคลึงกับเอสโตรเจนใดๆ ในมนุษย์เลย และยังช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งเต้านมด้วยซ้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้หญิงเอเชียที่บริโภคถั่วเหลืองตลอดชั่วชีวิต

ในการทบทวนงานวิจัย ที่มีผู้หญิงจากประเทศจีนจำนวน 300,000 คนเข้าร่วมพบว่าการเพิ่มการบริโภคไอโซฟลาโวนจากถั่วเหลืองในปริมาณเพียง​ 10 มิลลิกรัมต่อวันมีความเชื่อมโยงกับความเสี่ยงเกิดโรคมะเร็งเต้านมที่น้อยลงถึง 3% นักวิจัยยังสรุปต่อว่า การบริโภคถั่วเหลืองในปริมาณที่พอเหมาะปลอดภัยและหากบริโภคมากขึ้นก็อาจช่วยป้องกันโรงมะเร็งเต้านมได้

ในความเป็นจริง การบริโภคนมวัวเพียงหนึ่งถ้วยต่อวันมีความเชื่อมโยงกับการเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งเต้านมที่สูงขึ้นถึง 50% ดังนั้นหากเราแทนที่นมวัวด้วยนมถั่วเหลือง ความเสี่ยงจะลดลงถึง 32% อีกหนึ่งงานวิจัยที่ศึกษาผลกระทบของถั่วเหลืองและการเกิดมะเร็งเต้านมก็ได้ยืนยันว่าถั่วเหลืองป้องกันการเกิดโรคมะเร็งเต้านมได้ และย้ำว่าหากเริ่มบริโภคตั้งแต่วัยเด็กหรือวัยรุ่น ผลประโยชน์จะยิ่งเพิ่มมากขึ้น ผู้หญิงเอเชีย ซึ่งเป็นกลุ่มที่บริโภคถั่วเหลืองบ่อยและตลอดชีวิต มีความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งเต้านมที่ลดลงถึง 30%

ความเชื่อผิดๆ #2: ถั่วเหลืองกระทบฮอร์โมนเทสทอสเตอโรนในผู้ชาย

ไม่ได้มีเพียงผู้หญิงเท่านั้นที่กังวลเรื่องระดับไฟโตเอสโตรเจนที่สูงของถั่วเหลือง ผู้ชายก็กังวลเช่นกันว่าไอโซฟลาโวนอาจไปลดจำนวนสเปิร์มหรือตัวอสุจิ และกระทบกับระดับของเทสโทสเตอโรนในร่างกาย แต่โชคดีที่ความกังวลเหล่านี้ก็เป็นเพียงแค่ความกังวลที่ไม่ได้มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มารองรับ

ไม่นานมานี้ การวิเคราะห์อภิมานของงานวิจัยหลายฉบับโดยนักวิทย์ฯ จากมหาวิทยาลัย University of Essex และ Kansas ก็ได้เผยว่าโปรตีนจากถั่วเหลืองหรือไอโซฟลาโวนไม่ได้มีผลกระทบกับระดับของเทสโทสเตอโรนหรือเอสตราดิออลในผู้ชาย ซึ่งข้อสรุปนี้มีความน่าเชื่อถือเป็นอย่างยิ่ง เพราะการวิเคราะห์ครั้งนี้ได้รวบรวมงานวิจัยที่ได้รับการพิจารณาและตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญมาแล้วถึง 41 ฉบับ

ทำไมเราควรเริ่มบริโภคถั่วเหลือง

ถั่วเหลืองมีกรดอะมิโนทั้ง 9 ชนิดที่จำเป็นต่อร่างกายและเป็นแหล่งโปรตีนแพลนต์เบสสำหรับหลายๆ คนโดยเฉพาะในทวีปเอเชีย ซึ่งนำถั่วเหลืองไปใช้ทำเต้าหู้หรือเทมเป้ หนึ่งในวัตถุดิบที่คนนิยมบริโภค

ถั่วเหลืองต้มเพียงหนึ่งถ้วยจะให้โปรตีนถึง 29 กรัม วัตถุดิบที่อุดมไปด้วยโปรตีนนี้ยังไม่มีคอลเลสเตอรอลและใช้แทนแหล่งโปรตีนที่ดีต่อสุขภาพน้อยกว่าได้ เพียงแค่คุณเริ่มบริโภคถั่วเหลือง คุณก็ลดระดับไขมันเลวหรือ LDL ได้ถึง 3-4%

พร้อมที่จะเริ่มบริโภคถั่วเหลืองหรือยัง? เข้าร่วมโครงการท้าลอง 22 วันกับเราและรับข้อมูลโภชนาการ สูตรอาหารแพลนต์เบสและคำแนะนำจากนักโภชนาการโดยไม่มีค่าใช้จ่ายที่ thaichallenge22.org/



bottom of page