รายงานฉบับใหม่จากยูเอ็นระบุ ความต้องการเนื้อสัตว์ที่สูงขึ้นเชื่อมโยงกับโรคระบาดในอนาคต
เมื่อวานนี้ องค์การสหประชาชาติได้เผยแพร่รายงานฉบับล่าสุด ในหัวข้อ "Preventing the next pandemic: Zoonotic diseases and how to break the chain of transmission” หรือ “ป้องกันโรคระบาดระลอกถัดไป: โรคระบาดจากสัตว์ และการตัดวงจรการส่งผ่านโรค” โดยนักวิทยาศาสตร์จากโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ( the United Nations Environment Programme -UNEP) กล่าวเตือนว่า ปัจจัยต่างๆ เช่น กิจกรรมการเกษตรซึ่งมีการผลิตมากขึ้น ความต้องการโปรตีนจากเนื้อสัตว์ การตัดไม้ทำลายป่า และภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงอาจทำให้เกิดโรคระบาดชนิดใหม่ซึ่งเป็นโรครบะบาดที่เกิดในสัตว์ ก่อนแพร่ไปสู่มนุษย์ คล้ายกับโควิด-19 (โคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่)
อิงเกอร์ แอนเดอร์สัน ผู้อำนวยการโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ กล่าวว่า “ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ทำลายที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติของสัตว์ป่าและทำให้คนใช้ประโยชน์จากสัตว์มากสายพันธุ์ขึ้นเรื่อยๆ ทำให้มนุษย์อาจมีโอกาสสัมผัสตัวนำโรคมากขึ้น เมื่อแพร่มาสู่มนุษย์แล้ว โรคติดต่อเหล่านี้ก็จะแพร่ไปได้อย่างรวดเร็วในโลกที่เชื่อมโยงติดต่อกันเช่นนี้ เหมือนที่เกิดขึ้นมาแล้วกับโควิด-19”
รายงานฉบับนี้อธิบายว่าสัตว์ในฟาร์ม เช่นวัว หมูและไก่อาจทำให้โรคติดต่อแพร่ง่ายขึ้นเนื่องจากโดยมากแล้วสัตว์เหล่านี้มักเลี้ยงในสภาพที่ “ไม่สู้จะดีนัก” เพื่อให้มีผลผลิตสูงกว่า และมักจะอยู่ในสถานที่ที่ขาดความหลากหลายทางสายพันธุ์ ทำให้โรคแพร่กระจายไปได้ง่ายกว่าเมื่อเทียบกับสถานที่ที่มีสัตว์หลากหลายสายพันธุ์อยู่รวมกัน ยิ่งไปกว่านั้น สัตว์ในการปศุสัตว์ส่วนใหญ่ตอนนี้อยู่ในระบบที่เรียกว่าฟาร์มเชิงอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นระบบที่ขังสัตว์นับพันๆ ชีวิตไว้ด้วยกัน ไม่มีโอกาสให้สัตว์รักษาระยะห่างจากกันได้เลย
UNEP กล่าวว่า ในประเทศรายได้ปานกลางถึงรายได้ต่ำหลายประเทศ เช่นประเทศไทย มีการบริโภคผลิตภัณฑ์จากสัตว์สูงขึ้น ทำให้ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมานี้ ทั่วโลก อุตสาหกรรมการผลิตเนื้อสัตว์เติบโตขึ้น 260% และอุตสาหกรรมไข่ไก่เติบโตขึ้น 340%
ไม่น่าแปลกใจเลยที่ย่อหน้าหนึ่งในรายงานระบุว่า “ตั้งแต่ปีค.ศ.1940 กิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นเพื่ออำนวยการผลิตที่เพิ่มมากขึ้น เช่น การสร้างเขื่อน การชลประทาน และการปศุสัตว์เชิงอุตสาหกรรม มีส่วนเกี่ยวข้องกับโรคติดเชื้อกว่า 25% และโรคติดต่อจากสัตว์กว่า 50% จากบรรดาโรคทั้งหมดที่เกิดในมนุษย์
นอกจากนี้ UNEP ก็ยังเน้นย้ำว่า ในประเทศที่มีรายได้ต่ำกว่ามีปัจจัยเสี่ยงเพิ่มขึ้นอีก เนื่องจากการปศุสัตว์มักจะอยู่ใกล้เขตเมือง ระบบความปลอดภัยด้านชีวภาพ (biosecurity)และมาตรฐานการทำฟาร์มสัตว์มักไม่ดีพอ ไม่มีการจัดการมูลสัตว์อย่างเป็นระบบ และยังใช้ยาปฎิชีวนะเพื่อปกปิดสภาพความเป็นอยู่อันย่ำแย่ของสัตว์และการจัดการที่ไม่ดี
ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ได้แก่ การทำลายสิ่งแวดล้อมและการทำฟาร์มสัตว์ป่า
นอกจากนี้แล้ว ฟาร์มปศุสัตว์ยังเป็นตัวการสำคัญที่ทำลายสิ่งแวดล้อม รายงานจาก UNEP ระบุว่า “กว่าหนึ่งในสามของพื้นที่การเกษตรทั่วโลก นำมาปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ สำหรับในบางประเทศ นี่คือตัวการหลักของการตัดไม้ทำลายป่า” การตัดไม้ทำลายป่าเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้ภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงแย่ลงเรื่อยๆ ซึ่งภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงนี่เองที่เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคระบาด การทำลายป่าในพื้นถิ่นเชื่อมโยงกับการเกิดโรคติดเชื้อต่างๆ เช่นโรคไข้เลือดออกเดงกี ไข้มาลาเรียและไข้เหลือง
รายงานยังระบุอีกว่าไม่ใช่แค่เนื้อสัตว์ที่คนนิยมบริโภคกันเป็นปรกติเท่านั้นที่มีความต้องการสูงขึ้น เนื้อสัตว์ป่าบางสายพันธุ์ก็ได้รับความนิยมมากขึ้น ทำให้มีสัตว์ป่าถูกนำมาเลี้ยงเป็นสัตว์ในฟาร์ม นี่เป็นหนึ่งในปัจจัยซึ่งทำให้เกิดโรคซารส์ทั้งสองสายพันธุ์ได้แก่ SARS-CoV และ SARS-CoV-2 ในเอเชียตะวันออก และเมอรส์ (Middle East Respiratory Syndrome หรือ MERS-CoV) ซึ่งแพร่มาจากอูฐหนอกเดียวสู่มนุษย์เมื่อเกิดการทำฟาร์มเพื่อผลิตเนื้ออูฐ โรคนี้พบเป็นครั้งแรงในประเทศซาอุดีอาระเบีย และแพร่ไปใน 27 ประเทศทั่วโลก
องค์กรเอกชนขอให้ผู้นำไทย เริ่มลงมือป้องกันโรคระบาด
ซิเนอร์เจีย แอนิมอล องค์กรพิทักษ์สัตว์ซึ่งส่งเสริมการบริโภคอาหารแบบแพลนต์เบสตอบรับผลการศึกษาจากองค์การสหประชาชาติซึ่งเผยแพร่ในรายงานฉบับนี้ วิชญะภัทร์ ภิรมย์ศานต์ ผู้จัดการฝ่ายการรณรงค์ประจำประเทศไทยกล่าวว่า“หากความต้องการโปรตีนจากสัตว์ไม่สูงขนาดนี้ เราคงได้มีชีวิตที่ยั่งยืนและปลอดภัยมากกว่านี้ " “เราจะหวังพึ่งระบบการผลิตอาหารที่ทำร้ายทั้งระบบนิเวศและสุขภาพของเราแบบนี้ต่อไปไม่ได้อีกแล้ว”
องค์กรพิทักษ์สัตว์ซิเนอร์เจีย แอนิมอล ได้เริ่มการรณรงค์ชื่อว่า "ก่อนจะสายเกินไป" หรือ “Before it is too late” เพื่อเรียกร้องให้ผู้นำประเทศไทยลงมือป้องกันโรคระบาดระลอกใหม่ในอนาคตโดยการยับยั้งการตัดไม้ทำลายป่า สั่งห้ามการใช้ยากับสัตว์อย่างไร้ความรับผิดชอบและเปลี่ยนระบบอาหาร ให้เป็นระบบที่ไม่พึ่งพาอุตสาหกรรมการปศุสัตว์ คลิกที่นี่ เพื่อร่วมสนับสนุนการรณรงค์
UNEP ก็มีข้อเรียกร้องคล้ายๆ กันนี้ ชื่อว่าแนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียวหรือ One Health ซึ่งเป็นการทำความเข้าใจความสัมพันธ์อันซับซ้อนระหว่างสิ่งแวดล้อม ความหลากหลายทางชีวภาพ สังคมมนุษย์ และโรคต่างๆ โดยการเชื่อมโยงระบบสาธารณะสุข สัตวแพทยศาสตร์และความรู้ด้านสิ่งแวดล้อมเข้าด้วยกัน UNEP ยังกล่าวอีกว่า สิ่งที่สำคัญไม่ใช่เพียงแค่การรับมือกับโรคระบาดที่กำลังเกิดขึ้นเท่านั้น แต่ยังต้องยับยั้งโรคที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตด้วย