top of page

ธนาคารบีเอ็นพี พารีบาส์ส่งสัญญาณแตกหักกับวิธีปฏิบัติสุดโหดในอุตสาหกรรมปศุสัตว์

ธนาคารบีเอ็นพี พารีบาส์ ธนาคารสัญชาติฝรั่งเศส ใหญ่เป็นอันดับ 8 ของโลกเมื่อวัดจากทรัพย์สินรวม ประกาศนโยบายใหม่ โดยกระตุ้นเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ที่ธนาคารสนับสนุนอยู่ ให้หันมา “เปลี่ยนวิธีปฏิบัติให้เคารพต่อสวัสดิภาพสัตว์มากขึ้น” โดยให้อิงตามโครงการริเริ่มเพื่อการทำฟาร์มแบบพร้อมมาตรฐานความรับผิดชอบขั้นต่ำ หรือที่ใช้ชื่อเรียกย่อว่า ฟาร์มส์ อาร์เอ็มเอส (FARMS Initiative’s Responsible Minimum Standards)

โครงการริเริ่มเพื่อการทำฟาร์มแบบพร้อมมาตรฐานความรับผิดชอบขั้นต่ำ หมายถึง การห้ามใช้กรงในการเลี้ยงแม่ไก่สายพันธุ์ไข่ไก่และไก่เนื้อ การห้ามใช้คอกแบบยืนซองและกรงแคบๆ กับหมู การห้ามใช้คอกขังวัว การห้ามกั้นคอกเพื่อกักขังสัตว์ประเภทวัวควายไว้ในโรงเรือนตลอดเวลาหรือล่ามด้วยโซ่หรือเชือก

แนวปฏิบัติของฟาร์มส์ อาร์เอ็มเอส ยังกำหนดให้ผู้ผลิตลดความแออัดในการกักขังสัตว์ จัดการสภาพแวดล้อมที่ดีต่อความเป็นอยู่ของสัตว์และเลิกกระบวนการอันนำมาซึ่งความเจ็บปวดกับสัตว์ อาทิ การตอน การตัดหาง การขลิบจงอยปาก อีกทั้งห้ามการใช้ยาปฏิชีวนะในวิธีการป้องกันโรค จำกัดระยะเวลาในการขนส่ง กำหนดหลักเกณฑ์ในการช็อตสัตว์ให้หมดสติก่อนเชือด


“ถือเป็นก้าวที่สำคัญ เรายินดีที่เห็นธนาคารเดินไปในทิศทางนี้ แต่มันยังไม่พอ เราอยากให้ธนาคารบีเอ็นพี พารีบาส์กำหนดนโยบายดังกล่าวเป็นข้อบังคับ มีกำหนดเส้นตายชัดเจนให้ลูกค้าธนาคารฯ ทำตามเกณฑ์ของฟาร์มส์ อาร์เอ็มเอส” แมเรล แวน เดอร์ มาร์ค หัวหน้าแผนกสวัสดิการสัตว์และการเงินของซิเนอร์เจีย แอนิมอล องค์พิทักษ์สัตว์ระหว่างประเทศกล่าว “ซิเนอร์เจีย แอนิมอลกำลังร่วมมือกับธนาคารต่างๆ ในการขานรับนโยบายด้านสวัสดิการสัตว์ ซึ่งธนาคารบีเอ็นพี พารีบาส์ก็เป็นหนึ่งในธนาคารเหล่านั้น หากแต่เรายังหวังจะได้เห็นธนาคารจำนวนมากกว่านี้ดำเนินการตามมาตรการนี้ ในอันที่จะปกป้องดูแลสัตว์ต่างๆ”


นโยบายใหม่นี้เผยแพร่ผ่านข่าวประชาสัมพันธ์ ซึ่งในข่าวฉบับเดียวกันนี้มีประกาศว่านโยบายต้าน มีการตัดไม้ทำลายป่าแอมะซอน และดินแดนแถบทุ่งหญ้าเซอร์ราโด้ โดยเน้นห่วงโซ่อุปทานของถั่วลิสงและเนื้อวัว ภาคปศุสัตว์เชิงอุตสาหกรรมเป็นต้นเหตุของการตัดไม้ทำลายป่าที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคนี้อีกทั้งยังเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรคติดเชื้อจากสัตว์สู่คน มีส่วนในการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ปัญหาสุขภาพ การดื้อยาต้านจุลชีพ ความเหลื่อมล้ำทางสังคม และอีกนานาประเด็นปัญหา


ด้วยผลกระทบอย่างใหญ่หลวงที่ภาคปศุสัตว์มีต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ และเป้าหมายข้อตกลงปารีสที่ว่าด้วยสภาพภูมิอากาศ องค์กรซิเนอร์เจีย แอนิมอลกำลังร้องขอให้ธนาคารเพื่อการพัฒนาทั้งหลายให้คำมั่นในการหยุดให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ฟาร์มปศุสัตว์แบบโรงงานทั้งหลายเหล่านั้น (คลิกที่นี่เพื่ออ่านจดหมายเปิดผนึกถึงซีอีโอ)


“ธนาคารเพื่อการพัฒนาทั้งหลายเป็นตัวแทนสาธารณประโยชน์ เพราะธนาคารฯ เอาภาษีของประชากรไปใช้สนับสนุน หมายถึงว่า ธนาคารฯ ควรเปลี่ยนเอาเงินไปลงทุนเพื่ออนาคตที่ยั่งยืนมากกว่านี้ อย่างเช่น สนับสนุนวิธีปฏิบัติเชิงเกษตรกรรมที่ยั่งยืน นิเวศเกษตร ระบบเกษตรกรรมตามท้องถิ่น วนเกษตร เกษตรอินทรีย์ และอาหารที่ทำจากพืช เป็นต้น” แมเรล แวน เดอร์ มาร์ค กล่าวเสริม คลิกที่นี่เพื่อลงชื่อในข้อเรียกร้องให้ธนาคารเพื่อการพัฒนายุติการลงทุนในอุตสาหกรรมปศุสัตว์

bottom of page