ไมเนอร์ ฟู้ดประกาศนโยบายเลิกสั่งซื้อไข่ไก่จากฟาร์มที่ใช้กรง ทั่วโลก
หลังจากการเจรจากับซิเนอร์เจีย แอนิมอล บริษัทไมเนอร์ ฟู้ดได้ประกาศเจตนารมณ์ ที่จะจัดหาไข่ไก่จากแหล่งผลิตที่ไม่ใช้กรงขัง (cage-free) โดยครอบคลุมไข่ไก่ทุกประเภท (ไข่ไก่สด ไข่ไก่เหลว และผลิตภัณฑ์จากไข่ไก่) สำหรับแบรนด์อาหารและธุรกิจแฟรนไชส์ของบริษัทภายในปี พ.ศ. 2570 บริษัทไมเนอร์ ฟู้ด เป็นหนึ่งในบริษัทผู้ให้บริการด้านอาหารที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย ดำเนินธุรกิจใน 27 ประเทศ โดยมีร้านอาหารมากกว่า 2,300 แห่งทั่วโลก ไมเนอร์ ฟู้ดเป็นเจ้าของและผู้บริหารแบรนด์ดังระดับอินเตอร์มากมาย อาทิ เดอะ พิซซ่า คอมปะนี, ซิซซ์เล่อร์, สเวนเซ่นส์, แดรี่ ควีน, เดอะ คอฟฟี่ คลับ, เบอร์เกอร์คิง, ริเวอร์ไซด์ กริลล์ ฟิช, เบซิล และเบนิฮานา
“คำประกาศเจตนารมณ์ครั้งนี้มาจากผู้ประกอบการธุรกิจอาหารรายใหญ่ที่สุดรายหนึ่งของเอเชีย และมีศักยภาพที่จะช่วยบรรเทาความทุกข์ทรมานของสัตว์ในภูมิภาคได้อย่างมาก เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าบริษัทอื่นๆ จะประกาศนโยบายเช่นเดียวกันตามมา” คุณพิชามญชุ์ ธมะสุข ผู้จัดการฝ่ายการสื่อสารและการมีส่วนร่วมของภาคธุรกิจประจำประเทศไทย จากองค์กรซิเนอร์เจีย แอนิมอลกล่าว
ความจริงของกรงตับ
ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตไข่ไก่รายใหญ่เป็นอันดับที่สามในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แม่ไก่ไข่จำนวน 60 ล้านชีวิตส่วนใหญ่ถูกขังในกรงตับ ซึ่งถือว่าเป็นวิธีปฏิบัติทางการปศุสัตว์ที่โหดร้ายที่สุดวิธีหนึ่ง แม่ไก่ต้องใช้ชีวิตทั้งชีวิตบนพื้นที่ขนาดเล็กกว่ากระดาษเอสี่ ไม่สามารถเดินหรือกางปีกให้สุดได้
เนื่องจากอยู่กันอย่างแออัดมาก ลำตัวของแม่ไก่จึงครูดกับซี่กรงอยู่เสมอๆ ทำให้ขนร่วง นอกเหนือไปจากนั้นแม่ไก่ไม่มีโอกาสออกกำลังกาย ซึ่งทำให้เกิดโรคกระดูก ภาวะกระดูกหักและร้าว สร้างความเจ็บปวดอย่างมาก ฟาร์มปลอดกรงจะช่วยบรรเทาความทุกข์ทรมานให้แม่ไก่ไข่อย่างมาก เพราะแม่ไก่จะมีพื้นที่ให้ทำพฤติกรรมตามธรรมชาติได้หลายประการ อย่างเช่นการเคลื่อนไหวอย่างอิสระ การสร้างรังฟักไข่ การจิก และการเกาะบนคอน
นอกจากนั้นแล้ว ประเด็นด้านความปลอดภัยทางอาหารในฟาร์มเหล่านี้ยังเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องกังวล งานวิจัยสำคัญหลายชิ้นที่ทำในสหภาพยุโรปเปิดเผยว่า ความเสี่ยงในการปนเปื้อนเชื้อแซลโมเนลล่าในฟาร์มที่ใช้กรง สูงกว่าฟาร์มปลอดกรงอย่างมีนัยสำคัญ ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกระบุว่า แบคทีเรียแซลโมเนลล่าชนิดหนึ่งที่พบได้มากที่สุด “อาจทำให้เกิดอาการอุจจาระร่วงเฉียบพลันถึง 93.8 ล้านครั้ง และทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 155,000 รายต่อปีทั่วโลก ซึ่งถือเป็น 85% ของอาการป่วยที่เกิดจากอาหาร”
นี่เป็นเพียงหนึ่งในหลากหลายเหตุผลว่าทำไมกรงตับจึงถูกสั่งห้ามในสหภาพยุโรปและหลากหลายมลรัฐในประเทศสหรัฐอเมริกา
การสั่งซื้อไข่ไก่จากแหล่งผลิตปลอดกรงถือเป็นเรื่องค่อนข้างใหม่ในอุตสาหกรรมอาหารของไทย แต่เป็นแนวโน้มที่กำลังเติบโตทั่วโลก บริษัทนานาชาติชาติหลายๆ บริษัท เช่น โซเด็กโซ่ คอมพาสกรุ๊ป เนสท์เล่ และยูนิลีเวอร์ ได้ประการคำมั่นว่าจะเลิกสั่งซื้อไข่ไก่จากฟาร์มที่ใช้กรงทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทย ผู้ประกอบการค้าปลีกเช่น เทสโก้ โลตัส และเซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล ก็ได้ประกาศนโยบายแล้วเช่นกัน
ซิเนอร์เจีย แอนิมอลทำงานอย่างแข็งขันผ่านการเจรจาและการรณรงค์ เพื่อให้บริษัทต่างๆ มาร่วมขับเคลื่อนในประเทศไทย ทุกคนมีส่วนร่วมการขับเคลื่อนนี้ได้โดยร่วมเป็นอาสาสมัครกับเรา เพียงทำแอคชั่น รายสัปดาห์ผ่านช่องทางออนไลน์ คุณก็ช่วยบรรเทาความทุกข์ทรมานของสัตว์ได้
หรือหากต้องการช่วยเหลือสัตว์มากขึ้น โปรดสนับสนุนงานของเราเพื่อสร้างโลกที่มีความเห็นอกเห็นใจให้กันให้มากกว่านี้ คลิกที่นี่เพื่อบริจาค
Comments