top of page

5 เคล็ด(ไม่)ลับสำหรับวีแกนเมื่อต้องอยู่ร่วมกับคนกินเนื้อสัตว์



คุณคิดว่าอะไรคือสิ่งที่ยากที่สุด หากคุณกำลังผันตัวเป็นวีแกนแต่กลับต้องอยู่ร่วมกับคนที่กินเนื้อ? การทำอาหารเมนูใหม่? ออกไปดินเนอร์แล้วไม่มีเมนูที่ใช่? ทุกอย่างที่กล่าวมาล้วนเป็นปัญหาหลักๆ ที่ต้องพบเจอ แต่บ่อยครั้ง สิ่งที่ยากที่สุดในการเป็นวีแกนคือ ‘การเข้ากับคนอื่น’


เพื่อนสนิท เพื่อนร่วมงาน คนรัก และแม้แต่คนในครอบครัว การเป็นวีแกนมือใหม่อาจทำให้คุณรู้สึกเหมือนกำลังตกอยู่ในพายุของคำถามที่ซัดเข้ามาไม่ยั้ง “แล้วจะเอาโปรตีนมาจากไหน?” “ทำไมเธอต้องไม่กินเนื้อ?” “นมวัวไม่ดีตรงไหน?” และ “แล้วจะทำอะไรให้กิน?”


หากคุณอาศัยอยู่คนเดียว หรือกับวีแกนคนอื่นๆ คุณยังพอจัดแจงรายการซื้อของและเตรียมอาหารได้อย่างสบายใจ โดยที่คุณมั่นใจได้ว่าเมื่อคุณเปิดตู้เย็น คุณจะไม่เจอผลิตภัณฑ์จากสัตว์ที่ทำให้คุณนึกถึงความโหดร้ายของอุตสาหกรรมปศุสัตว์ที่ทำกับสัตว์ แต่หากคุณต้องอาศัยร่วมกับคนอื่นที่บริโภคเนื้อ ทุกอย่างอาจจะไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด โดยเฉพาะถ้าคุณยังต้องพึ่งพาอาศัยเขาอยู่


ทำไมคนบางกลุ่มถึงรู้สึกขัดใจเมื่อเราตัดสินใจเป็นวีแกน?


ประเพณีและขนบธรรมเนียมสำคัญสำหรับเรา สิ่งเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมและชีวิตประจำวันของเรา เราแบ่งปันสิ่งเหล่านี้กับคนในกลุ่มเดียวกัน และคุยเรื่องอาหารได้ในทุกบทสนทนา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราคาของที่ลดลง หรือสูตรอาหารใหม่ๆ ที่เราเจอออนไลน์และเตรียมที่จะทำ แต่ในบางครั้ง เราเลือกทางเลือกที่ส่งผลกระทบต่อ หรือแม้กระทั่งเปลี่ยนประเพณีเหล่านี้โดยสิ้นเชิง เช่น เราอาจจะเติมวัตถุดิบหรือเครื่องเทศลงไปในสูตรอาหารประจำครอบครัว หรือเปลี่ยนแบรนด์อาหารเพื่อเหตุผลต่างๆ การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้อาจดูเหมือนเรื่องเล็กน้อยเมื่อมองจากภาพรวมของการใช้ชีวิตในทุกวัน


การเป็นวีแกน หมายถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่อยู่นอกเหนือ ‘comfort zone’ ของเรา เราเองอาจจะเข้าใจเหตุผลที่เราเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างดี แต่คนอื่นๆ รอบตัวอาจจะไม่เห็นด้วย สำหรับคนที่กินเนื้อสัตว์ การตัดสินใจเล็กๆ น้อยๆ ของวีแกนอาจดูเหมือนการทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่และไร้เหตุผลสิ้นดี “ทำไมเธอต้องเปลี่ยนแบรนด์แชมพูที่ใช้?” หรือ “ชั้นซื้อนี่มาให้เธอนะ ทำไมเธอไม่กินล่ะ? เธอทำตัวไม่มีมารยาทอยู่นะ”


วิธีสื่อสารคือกุญแจสำคัญ


สถาณการณ์น่าลำบากใจอาจจะเกิดขึ้น แต่นั่นไม่ได้แปลว่าจะต้องจบที่การทะเลาะเสมอไป! มีหนทางมากมายที่สามารถพัฒนาความสัมพันธ์ของคุณกับผู้ร่วมอาศัย หนึ่งในนั้นคือ การสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ พยายามอธิบายให้พวกเขาเข้าใจว่า การเป็นวีแกนสำคัญต่อคุณอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสัตว์ เรื่องสิ่งแวดล้อม หรือสุขภาพของคุณเอง


และอย่าลืมที่จะรับฟังพวกเขาด้วย! โดยส่วนมากแล้ว พวกเขาพูดสิ่งเหล่านี้เพราะเขาแคร์คุณ หรือบางทีพวกเขาอาจจะแค่กลัวที่ต้องเปลี่ยนแปลงเช่นกัน บุคคลเหล่านี้สนิทสนมกับคุณมากที่สุด ถึงแม้บางทีอาจจะดูเหมือนว่าพวกเขาเคลือบแคลงใจในวิถีวีแกนก็ตาม การรับฟังพวกเขาสร้างความแตกต่างได้ คุณจะปลดปล่อยความกังวลของคุณเองได้ หากคุณพยายามเข้าใจพวกเขาก่อน


5 เคล็ด(ไม่)ลับ สำหรับวีแกน เมื่อต้องอยู่ร่วมกับคนกินเนื้อสัตว์จากทีมซิเนอร์เจีย



1. ทำอาหารให้ตัวเอง และคนอื่นด้วย! เปลี่ยนเมนูโปรดของบ้านให้กลายเป็นวีแกน และพิสูจน์ให้คนอื่นเห็นว่าการรับประทานอาหารแบบวีแกนนั้นง่ายและอร่อยถูกปาก ติดตามบัญชีโซเชียลมีเดียเกี่ยวกับวีแกนเพื่อแรงบันดาลใจ ลองทำหลายๆ อย่างด้วยตัวเอง และใส่ความสร้างสรรค์ลงไป! นอกจากพวกเขาจะเห็นว่าการเป็นวีแกนไม่ใช่เรื่องยากแล้ว พวกเขายังบริโภคเนื้อน้อยลงอีกด้วย!


2. มีความอดทน การเห็นบางคนเริ่มต้นไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ ไม่ใช่เรื่องง่าย ให้เวลาพวกเขาปรับตัวและอย่ากดดัน มากเกินไป พวกเขาจะต้องเปลี่ยนแปลงแน่นอน!


3. อย่าโมโห เราต้องอดทนอยู่เสมอ ไม่ใช่แค่ตอนที่คนกินเนื้อสัตว์หลงลืมและใส่ชีสลงไปในพาสต้าของเราเท่านั้น เป็นเรื่องปกติที่วีแกนมือใหม่รู้สึกว่าต้องปกป้องเหตุผลและทางเลือกของตนเอง การพูดคุยเรื่องที่สำคัญต่อเราเช่นนี้อาจทำให้อารมณ์ดุเดือดได้ง่ายๆ โดยเฉพาะเมื่อพูดถึงประเด็นเรื่องสัตว์! คุณสามารถเตรียมตัวเองให้พร้อมสำหรับงานสังสรรค์กับครอบครัวด้วยบล็อคของเรา 5 ทิปส์สำหรับวีแกน รับมือกับวันรวมญาติยังไงดี?


4. ดูแลตัวเอง คนที่รักคุณจะกังวลเรื่องสุขภาพคุณมากที่สุดเมื่อคุณตัดสินใจเป็นวีแกน จำไว้เสมอว่า คุณกำลังสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในวิธีการใช้ชีวิตของคุณ​ ดังนั้นคุณควรที่จะยอมรับและประพฤติตนอย่างมีความรับผิดชอบ การรับประทานอาหารแบบวีแกนสามารถให้สารอาหารได้อย่างครบถ้วน (อย่าลืมกินวิตามิน B12 เสริม) แต่อย่าลืมว่า มื้ออาหารที่ดีต่อสุขภาพนั้นต้องมีความหลากหลายและสมดุล ประกอบไปด้วย ผักสด ผลไม้ ธัญพืช เมล็ดพืชและถั่ว เป็นส่วนใหญ่ - คนที่รับประทานเนื้อสัตว์ก็เช่นกัน หากเป็นไปได้ ควรปรึกษานักกำหนดอาหารที่เชี่ยวชาญด้านอาหารจากพืช เพื่อที่คุณจะได้ตรวจสอบว่าทำทุกอย่างได้ถูกต้องแล้ว และจะทำต่อไป! หากคุณมีสุขภาพที่ดี พวกเขาก็จะมีเหตุผลน้อยลงอีกหนึ่งข้อที่จะต่อต้านคุณ


5. เตรียมข้อมูลให้พร้อม นี่เป็นเคล็ดลับหนึ่งที่สำคัญที่สุดที่เราจะให้คุณได้ มีเรื่องเข้าใจผิดเกี่ยวกับการเป็นวีแกนมากมายที่เพื่อนหรือครอบครัวของคุณที่ยังกินเนื้อสัตว์อยู่อาจยกขึ้นมาเป็นประเด็นได้ และคุณต้องพร้อมที่จะตอบคำถามและข้อสงสัยเหล่านี้! เพื่อช่วยให้คุณเริ่มต้น เราได้ยกตัวอย่างสิ่งที่เราได้ยินเกี่ยวกับวีแกนมากที่สุด ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่จริง


  • เรื่องไม่จริง: “การกินวีแกนไม่ดีต่อสุขภาพ” เรื่องจริง: สถาบันโภชนาการและการควบคุมอาหาร (Academy of Nutrition and Dietetics) เผยว่า “การรับประทานอาหารแบบมังสวิรัติ รวมถึงวีแกน ดีต่อสุขภาพ มีสารอาหารเพียงพอ และอาจมีผลประโยชน์ด้านสุขภาพเพิ่มเติมในการช่วยป้องกันรวมถึงการรักษาโรคบางโรค การรับประทานอาหารเช่นนี้เหมาะสมสำหรับทุกช่วงวัย รวมถึง ช่วงตั้งครรภ์ ช่วงให้นมบุตร เด็กแรกเกิด เด็ก วัยรุ่น ผู้ใหญ่ตอนปลาย และแม้แต่นักกีฬา” ในขณะเดียวกัน มีงานวิจัยมากมายที่ชี้ถึงความสัมพันธ์ระหว่างการรับประทานเนื้อสัตว์ ผลิตภัณฑ์นมวัว และอัตราความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของการเกิดมะเร็งบางประเภทและโรคต่างๆ



  • เรื่องไม่จริง: “การเป็นวีแกนแพง” เรื่องจริง: เช่นเดียวกับหลายๆ สิ่ง เราสามารถหาทั้งของถูกและของแพงได้ ตัวอย่างเช่น คุณสามารถทำเบอร์เกอร์วีแกนจากถั่วเลนทิลที่แสนอร่อย ดีต่อสุขภาพ และถูกได้ หรือคุณอาจซื้อเนื้อแพลน์เบสต์ที่ร้านค้า (ที่ถึงแม้จะอร่อย) แต่อาจทำให้คุณใช้เงินเปลืองโดยไม่จำเป็น คุณสามารถอ่านบล็อกของเราเกี่ยวกับ 8 เคล็ดลับ ประหยัดเงินแบบวีแกน เพื่อหาเคล็ดลับเพิ่มเติมที่ดีต่อกระเป๋าตังค์ของคุณ


  • เรื่องไม่จริง: “การเป็นวีแกนไม่ยั่งยืนหากเราทดแทนเนื้อสัตว์ด้วยถั่วเหลือง” เรื่องจริง: บางคนอาจเถียงว่าการรับประทานอาหารจากพืชทำร้ายสิ่งแวดล้อม เพราะวีแกนหลายๆ คนบริโภคผลิตภัณฑ์ที่มาจากถั่วเหลือง ซึ่งเชื่อมโยงกับการปลูกพืชเชิงเดี่ยวและการตัดไม้ทำลายป่า แต่ คุณรู้หรือไม่ว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของการปลูกถั่วเหลืองทั่วโลกถูกใช้เพื่อเป็นอาหารสัตว์ เราใช้ธัญพืชถึง 7 กิโลกรัม เพื่อผลิตเนื้อวัวเพียง 1 กิโลกรัม การเปลี่ยนแปลงไปใช้วิถีชีวิตแบบวีแกนจึงหมายถึงการก้าวหน้าที่สำคัญสู่การใช้ธัญพืชเหล่านี้เพื่อเลี้ยงประชากรโลกแทน และหลีกเลี่ยงการปลูกพืชเชิงเดี่ยวที่ทำลายสิ่งแวดล้อม



bottom of page